การค้นพบใหม่ เมื่อนักวิจัยได้ทำการแบ่งประเภทของ โรคนอนไม่หลับ ออกเป็น 5 แบบ ซึ่งไม่เคยมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน และการแบ่งประเภทอาการของโรคนอนไม่หลับอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อที่ว่าในอนาคตจะทำให้คุณหมอสามารถให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามประเภทการนอนไม่หลับของเรา
และการแบ่งประเภทของโรคนอนไม่หลับตามแนวคิดใหม่นี้ ไม่ใช่อะไรที่พื้นๆ อย่างการแบ่งตามระดับความรุนแรงของการนอนไม่หลับ หรือความรุนแรงของการที่ชอบตื่นนอนกลางดึกแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม 5 ประเภทของโรคนอนไม่หลับแบบใหม่นี้ มีความเชื่อมโยงกับ ความเครียด, ความรู้สึก, ลักษณะบุคลิกภาพ, สภาพอารมณ์ รวมถึง เหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต
โดยการแยกแยะอาการโรคนอนไม่หลับออกเป็น 5 รูปแบบ นักวิทยาศาสตร์สามารถแสดงให้เห็นว่า แต่ละคนนั้นมีลักษณะของปัญหาการนอนไม่หลับที่แตกต่างกัน รวมถึงความแตกต่างในเรื่องของระดับความกังวล และความไวต่อความรู้สึก และเรื่องที่น่าสนใจคือ คนเรามีแนวโน้มที่จะมีรูปแบบของอาการโรคนอนไม่หลับเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบ
Tessa Blanken จากสถาบัน Netherlands Institute for Neuroscience กล่าวว่า "ในขณะที่เราคิดว่า โรคนอนไม่หลับ นั้นมีเพียงรูปแบบเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีถึง 5 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับกลไกในสมองที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล"
โดยงานวิจัยเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับนี้ เกิดจากการร่วมมือกับอาสาสมัครจำนวนมากถึง 2,224 คนที่มีอาการนอนไม่หลับ พวกเขาถูกขอร้องให้กรอกแบบสอบถามที่เกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโครงสร้าง และฟังก์ชั่นของสมอง และเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
โดยประเภทของโรคนอนไม่หลับแบบที่ 1 (Type 1) มีคะแนนสูง เกี่ยวกับลักษณะของความรู้สึกหดหู่ และไม่มั่นคงทางอารมณ์ ในขณะที่โรคนอนไม่หลับแบบที่ 2 (Type 2) และแบบที่ 3 (Type 3) นั้นมีคะแนนเกี่ยวกับความรู้สึกหดหู่ที่ต่ำกว่า แต่อย่างไรก็ดี แบบที่ 2 นั้นจะมีความรู้สึกในเชิงบวกมากกว่า แบบที่ 3
ในขณะที่ แบบที่ 4 (Type 4) และ แบบที่ 5 (Type 5) นั้นมีความรู้สึกทุกข์ใจหรือหดหู่ในระดับต่ำ แต่ แบบที่ 4 นั้น ประสบปัญหาจากโรคนอนไม่หลับเป็นระยะเวลายาวนาน หลังจากผ่านเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง ในขณะที่ แบบที่ 5 นั้นไม่เคยผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง
และเมื่อทำการสำรวจกับคนกลุ่มเดิมอีกครั้งใน 5 ปีให้หลัง กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 87% ก็ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมของโรคนอนไม่หลับ มีคนเพียงจำนวนน้อยที่เปลี่ยนรูปแบบของอาการโรคนอนไม่หลับไป
การได้รู้เงื่อนงำสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังโรคนอนไม่หลับของแต่ละคน สามารถช่วยให้คุณหมอสามารถเลือกวิธีการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดยทีมวิจัยกล่าวว่า ผู้ที่มีอาการของโรคนอนไม่หลับ ทั้งแบบที่ 1 และแบบที่ 2 นั้นนอนหลับได้ดีขึ้นเมื่อได้รับยาประเภท เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ซึ่งเป็นยาในหมวดสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
ผู้ที่มีอาการของโรคนอนไม่หลับประเภทที่ 2 ตอบสนองดีกับ การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioural therapy) ในขณะที่คนในประเภทที่ 4 ไม่ตอบสนองกับการบำบัดในรูปแบบนี้
แต่งานวิจัยนี้ดูเหมือนจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เรื่องแรกเลยก็คือ อาสาสมัครที่เข้าร่วมในการตอบแบบสอบถามนั้น เป็นคนที่มีอาการนอนไม่หลับ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทั้งหมดจะเป็นโรคนอนไม่หลับ เรื่องที่สอง อาสาสมัครที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามนั้น มีเพียงจำนวนน้อย อาจไม่ได้ฉายให้เห็นภาพรวมของคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนอนไม่หลับอย่างแท้จริง
ถึงอย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้ฉายให้เห็นว่า ในอนาคตการรักษาอาการของคนเป็นโรคนอนไม่หลับนั้นจะได้รับการพัฒนาขึ้น โดยมีคนจำนวนถึง 1 ใน 10 ที่ต้องทนทรมานกับอาการของโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้า และความเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ และความช่วยเหลือใดๆ ที่จะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
โดยทีมวิจัยได้สรุปว่า "การแบ่งประเภทของโรคนอนไม่หลับ ปูทางไปสู่การศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะซึมเศร้า แก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน เปิดเผยถึงสาเหตุที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพื่อให้เกิดการรักษาอย่างตรงจุดตามความต้องการของแต่ละบุคคลในที่สุด"
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |