การใช้งาน Social Media ต่าง ๆ นั้นผู้ใช้งานหลายรายคงมีความเข้าใจกันดีว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักจะให้บริการฟรี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง เช่น ข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น และสิ่งนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับ Facebook เช่นเดียวกัน
จากรายงานโดยสำนักข่าว ABC News ได้รายงานถึง การที่ตัวแทนของบริษัท Meta ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาและให้บริการโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Facebook และ Instagram ได้ออกมาทำการยอมรับถึงการที่ Facebook ได้นำเอาโพสต์, รูปภาพ, และข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่ ในประเทศออสเตรเลียที่มีการตั้งค่าให้ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นสาธารณะ นำมาใช้งานเพื่อฝึกฝนโมเดล AI ที่ทาง Meta พัฒนาขึ้น และสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันก็คือ ผู้ใช้งานชาวออสเตรเลีย ไม่สามารถที่จะปฏิเสธ หรือยกเลิก (Opt-Out) การถูกเก็บข้อมูลดังกล่าวได้ ถึงแม้ผู้ใช้งานที่อาศัยอยู่ภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) จะสามารถทำได้ก็ตาม
โดยการยอมรับดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงานแห่งประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมาตั้งคำถามว่า ทาง Meta ได้มีการนำเอาข้อมูลของผู้ใช้งานชาวออสเตรเลียที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ถึง ปัจจุบัน มาใช้งานหรือไม่ ? ซึ่งในคราวนั้นทาง Meta ได้ทำการปฏิเสธถึงข้อกล่าวหาดังกล่าว
จนกระทั่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคกรีน ได้ออกมาท้าทายในประเด็นดังกล่าวว่า "ทาง Meta ได้ทำการเก็บข้อมูลที่เป็นสาธารณะทั้งหมดตั้งแต่ปีที่กล่าวไป โดยยกเว้นเฉพาะผู้ที่ตั้งค่าเป็นส่วนตัวใช่หรือไม่ ?" ซึ่งในคำถามท้าทายนี่เองที่ทาง Meta ได้ยอมรับในท้ายที่สุด แต่ทาง Meta ก็ยังย้ำว่า ไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างเด็ดขาด แต่ทางบริษัทก็ไม่มีการให้คำตอบได้ มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่ในช่วงที่อายุยังไม่ถึง 18 หรือไม่ ถ้าผู้ใช้งานรายนั้นได้ทำการลงทะเบียนบัญชีมาตั้งแต่ก่อนอายุจะถึงเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงดังกล่าวนั้น ทางสมาชิกวุฒิสภาแห่งประเทศออสเตรเลียรายหนึ่ง ได้ออกมากล่าวว่า “เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เพราะที่ทาง Meta กระทำการเช่นนี้ได้ ขณะที่ไม่สามารถกระทำในพื้นที่ของสหภาพยุโรป ได้ เนื่องมาจากทางสหภาพยุโรปนั้นมีกฎหมายการปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่เข้มงวด ซึ่งถ้าทาง Meta ไม่กระทำตามก็จะประกอบธุรกิจในพื้นที่นั้นได้ลำบาก ขณะที่ทางออสเตรเลียไม่มีกฎหมายเช่นนั้น โดยถ้าออสเตรเลียมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มแข็ง ทาง Meta ก็จำเป็นที่จะต้องกระทำในรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุโรปเช่นเดียวกัน”
จะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะปกป้องผู้ใช้งานจากการเก็บข้อมูลอย่างไม่เต็มใจยินยอมโดยองค์กรและธุรกิจต่าง ๆ แต่สำหรับในไทยที่ถึงแม้จะมีกฎหมาย แต่วิธีการปฏิบัติบังคับใช้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ รวมถึงความไม่ชัดเจนถึงการปฏิบัติของทาง Meta ในประเทศไทยว่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับยุโรป หรือออสเตรเลีย ดังนั้น วิธีการปกป้องข้อมูลที่สามารถทำได้ในตอนนี้ อาจต้องใช้วิธีการตั้งค่าข้อมูลให้เป็นส่วนตัว (Private) เพื่อปกป้องตนเองไปพลางก่อน
|