การเป็นแฮกเกอร์เข้ายึดครองทำลายระบบของเหยื่อนั้น อาจดูเท่ น่าตื่นเต้น ในสายตาผู้ที่อยากเป็นอาชญากรมือใหม่ หรือวัยรุ่นอยากลองของหลายราย ในระดับที่แสวงหาเครื่องมือมาทำบ้าง แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือ อาชญากรรมไซเบอร์อาวุโสอาจจะไม่ได้ต้องการสนับสนุนรุ่นใหม่ขนาดที่คิดไว้
จากรายงานโดยเว็บไซต์ Bleeping Computer ได้มีการรายงานถึงรูปแบบการหลอกลวงเหยื่อของแฮกเกอร์ที่เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างประหลาด แตกต่างจากแคมเปญอื่น โดยแคมเปญดังกล่าวนั้นเป็นการมุ่งเน้นไปยังกลุ่มแฮกเกอร์มือใหม่ หรือ Script Kiddies ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถในเชิงการเจาะระบบ แต่ความรู้ และประสบการณ์ยังมีไม่มากมายนัก ซึ่งกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีประสบการณ์ระดับสูงได้ทำการหลอกลวงให้เหล่ามือใหม่ ดาวน์โหลดเครื่องมือสำหรับการสร้างมัลแวร์ (Malware Builder) โดยอ้างว่าสามารถช่วยในการสร้างมัลแวร์ประเภทเข้าถึงระบบจากระยะไกล (RAT หรือ Remote Access Trojan) แต่แทนที่จะเป็นการช่วยสร้างมัลแวร์ กลับเป็นการฝังมัลแวร์ลงเครื่องของเหล่ามือใหม่เสียเอง
ซึ่งการค้นพบดังกล่าวนั้นเป็นผลงานของทีมวิจัยจาก CloudSEK ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจจับภัยไซเบอร์ โดยทีมวิจัยได้ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มแฮกเกอร์อาวุโสดังกล่าวนั้นได้ทำการเผยแพร่เครื่องมือสร้างมัลแวร์ปลอมตามช่องทางต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางช่องทาง GitHub ซึ่งเป็นคลังฝากไฟล์ดิจิทัล (Repo หรือ Repository) ยอดนิยม และทางแอปแชทชื่อดัง Telegram โดยทางผู้ก่อการอ้างว่า เครื่องมือ XWorm RAT builder จะสามารถช่วยให้แฮกเกอร์ที่ดาวน์โหลดไปนั้น สามารถสร้างมัลแวร์ในชื่อเดียวกันได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังเป็นการแจกให้ใช้งานฟรีแบบไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งผิดวิสัยเครื่องมือสำหรับสร้างมัลแวร์โดยทั่วไปที่มีการคิดค่าใช้จ่ายในระดับพอสมควร แต่พอติดตั้ง กลับกลายเป็นการฝังมัลแวร์ชื่อเดียวกันลงสู่เครื่อง
สำหรับการทำงานของมัลแวร์ตัวดังกล่าวนั้น หลังจากที่เหยื่อได้ทำการติดตั้งลงเครื่องแล้ว ตัวมัลแวร์จะทำการตรวจสอบในส่วนของ Windows Registry ว่ามีการรัน Virtual Environment อยู่หรือไม่ ถ้าตรวจพบ มัลแวร์ก็จะสั่งหยุดการรันดังกล่าวทันที และถ้ามัลแวร์ตรวจระบบแล้วว่ามีความเหมาะสมสำหรับการฝังตัวลงในเครื่อง ตัวมัลแวร์ก็จะทำการดัดแปลงส่วนของ Registry เพื่อรับประกันว่ามัลแวร์จะสามารถคงตัวรันอยู่บนระบบได้ (Persistence)
ภาพจาก : https://www.bleepingcomputer.com/news/security/hacker-infects-18-000-script-kiddies-with-fake-malware-builder/
หลังจากที่มัลแวร์ฝังตัวลงเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มัลแวร์ก็จะทำการสื่อสารกับเซิร์ฟเวอร์ควบคุม (C2 หรือ Command and Control) ซึ่งเป็นบอทอยู่ในแอปแชท Telegram ผ่านทาง Telegram bot ID และ Token โดยในการสื่อสารครั้งแรกนั้นจะเป็นการลงทะเบียนเลขรหัสเครื่องที่ติดมัลแวร์ดังกล่าว เมื่อลงทะเบียนเสร็จ มัลแวร์ก็จะเริ่มทำการขโมยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ บนเครื่องทันที เช่น ข้อมูลระบบของเครื่อง, Token สำหรับในการล็อกอินเข้าใช้งานแอปพลิเคชันแชท Discord, และ ตำแหน่งที่อยู่โดยอ้างอิงจากหมายเลข IP Address เป็นต้น โดยจะเป็นการส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ C2 ที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ทางทีมวิจัยยังได้ตรวจพบคำสั่งสำหรับใช้ในการสั่งการมัลแวร์ดังกล่าวถึง 56 คำสั่ง โดยมีคำสั่งที่มีความอันตรายสูงมากถึง 7 คำสั่งด้วยกัน อันได้แก่
แต่ก็ยังมีข่าวดี นั่นคือ ทางทีมวิจัยได้ใช้ช่องโหว่ของการทำงานของมัลแวร์ดังกล่าว เพื่อสร้างคำสั่งสำหรับหยุดการทำงาน (Kill Switch) ทำการถอนการติดตั้งมัลแวร์ออกจากเครื่องของเหยื่อไปได้จำนวนมาก พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนต่อผู้ที่ริอยากจะเป็นแฮกเกอร์ในรูปแบบอาชญากรไซเบอร์ไว้ว่า “ไม่มีสัจจะในหมู่โจร”
|