Android นอกจากจะเป็นระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนตัวหนึ่งที่ใช้งานมากที่สุดในโลกเนื่องมาจากการเป็นระบบเปิดที่รองรับการใช้งานบนโทรศัพท์หลายยี่ห้อได้แล้ว ยังเป็นเป้าในการแฮกเพื่อขโมยข้อมูลและปล่อยมัลแวร์ที่ใหญ่ที่สุดอีกตัวหนึ่ง และข่าวนี้อาจเป็นอีกหนึ่งข่าวร้าย ที่ผู้ใช้งานในไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าโจมตีเสียด้วย
จากรายงานโดยทีมวิจัยแห่งบริษัท Zimperium บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยบนโทรศัพท์มือถือ ได้มีการตรวจพบถึงแคมเปญการโจมตีของแฮกเกอร์ครั้งใหม่ที่มุ่งเน้นเป้าหมายไปที่การขโมยข้อมูล SMS (Short Message Service) โดยทางทีมวิจัยได้ตั้งชื่อแคมเปญดังกล่าวว่า SMS Stealer ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของการโจมตีนั้นจะเป็นการโจมตีแบบทั่วโลก ซึ่งจากการตรวจสอบของทีมงานนั้น การโจมตีนี้ระบาดหนักในแถบประเทศอินเดีย, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และข่าวร้ายสำหรับผู้ใช้งานในไทยคือ ตามแผนที่เป้าหมายการโจมตีที่ทางทีมวิจัยทำขึ้นมานั้นได้มีการพบการระบาดในแถบไทย กัมพูชา และเวียดนาม แล้ว
ภาพจาก https://www.youtube.com/post/UgkxA824OQifUgGv1ndJTy2A8QLAHAwepLOz
สำหรับแผนการหลอกลวงเหยื่อที่ทางทีมแฮกเกอร์ใช้นั้นก็เป็นไปอย่างแยบยล คือ มีการทำโฆษณาตัวแอปพลิเคชันปลอมอย่างหนัก เพื่อล่อลวงให้เหยื่อเข้าไปคุยกับบอทบนแอปแชท Telegram ซึ่งเหยื่อนั้นจะติดมัลแวร์หลังจากที่กดลิงก์ที่บอทส่งมาให้ เมื่อตรวจจับได้ว่าเหยื่อกำลังค้นหาแอปพลิเคชัน Android ที่ไม่ได้มีวางขายอย่างเป็นทางการ หรือหาแอปพลิเคชันฟรีมาใช้
โดยตัวมัลแวร์นั้นจะปลอมตัวเป็นแอปพลิเคชันมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอเกมส์, แอปพลิเคชันอรรถประโยชน์ (Utility), แอปพลิเคชันด้านการเงิน, ไปจนถึงแอปพลิเคชันชื่อดังที่หลายคนรู้จักกันดีอีกมากมาย ซึ่งการโจมตีของแฮกเกอร์ด้วยวิธีการนี้ก็ไม่ได้พึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีนี้ แต่ทำมาร่วม 2 ปี นับตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) แล้ว โดยพบสถิติตรวจจับมัลแวร์ที่น่าตกใจของทางทีมวิจัยคือ มีการเก็บตัวอย่างมัลแวร์ที่ถูกแพร่จากแคมเปญนี้ได้มากกว่า 107,000 ตัว โดยกว่า 95% นั้นทางทีมวิจัยไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นมัลแวร์อะไร ซึ่งในมัลแวร์จำนวนเหล่านี้นั้นถูกเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ควบคุม (C2 หรือ Command and Control มากกว่า 13 ตัว) และทำงานร่วมกับบอท Telegram มากกว่า 2,600 ตัว
โดยการทำงานของมัลแวร์ “กลุ่มดังกล่าว” นั้น หลังจากที่ผู้ใช้งานทำการติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอมลงไปแล้ว ตัวมัลแวร์ก็จะเริ่มทำการ “ดักจับ” ข้อความ SMS เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น OTP (One-Time Password), รหัสยืนยันตัวตน, รหัสผ่าน และข้อมูลที่เป็นความลับต่าง ๆ ที่ถูกส่งผ่าน SMS ซึ่งแฮกเกอร์จะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเข้ายึดครองบัญชีบริการออนไลน์ที่เหยื่อใช้งาน หรือนำไปใช้ในงานขโมยเงิน และทรัพย์สินดิจิทัลของเหยื่อต่อไป หรือแม้แต่การนำเอาเบอร์โทรศัพท์ของเหยื่อไปใช้ในการสร้างบัญชีปลอมต่าง ๆ ที่ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นวิธีการขโมยตัวตนอย่างหนึ่ง (Identity Theft)
จากข่าวจะเห็นได้ว่ามี 2 แง่มุมคือ การใช้ SMS ครั้งหนึ่งอาจจะถูกมองว่าค่อนข้างปลอดภัยเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์นั้นเป็นของส่วนตัว แต่ในตอนนี้แฮกเกอร์ก็มีทางที่จะเข้าถึงรหัสและนำเอาข้อมูลจาก SMS หรือเบอร์โทรศัพท์ไปใช้งานปลอมแปลงตัวตนได้ถึงแม้จะไม่เป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ก็ตาม แต่ในอีกแง่ สิ่งนี้สามารถป้องกันได้ถ้ามีความระมัดระวังในการหาแอปพลิเคชันมาใช้งาน และหลีกเลี่ยงไม่ใช้ของเถื่อน หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งที่ไม่มีความน่าไว้วางใจ
|