ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ข่าวไอที
 

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 5,785
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%87%3F+%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A2
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

“ปัญหา การกลั่นแกล้ง/การรังแกกัน เป็นเรื่องปกติรึเปล่า?”

นี่เป็นคำถามชวนสงสัยของผู้เขียนที่คิดขึ้นมาระหว่างฟังการบรรยายจาก ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ เรื่องงานวิจัย “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพและปริมณฑล” และผู้เขียนอยากเอาคำถามนี้มาถามกับเพื่อนๆ ว่า การแกล้งกันหรือการรังแกเป็นเรื่องที่รับได้หรือ? ถ้าเราเป็นคนโดนแกล้งเราจะทำอย่างไร? หรือถ้าคนใกล้ตัวของเรากำลังโดนแกล้ง หรือกำลังแกล้งคนอื่นอยู่ เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? 

บทความเกี่ยวกับ 1 อื่นๆ

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนในที่นี้ น่าจะเคยพบเจอกับเหตุการณ์ “การแกล้งกัน” หรือ “การรังแกกัน” (Bully) ทั้งที่เป็น ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และผู้เฝ้าดู ตลอดช่วงชีวิตมาไม่มากก็น้อย ลองคิดย้อนกลับไปดูว่า “เราเคยแกล้งเพื่อนคนอื่น” หรือ “โดนเพื่อนแกล้ง” ในเรื่องอะไรบ้าง เช่น ล้อชื่อพ่อชื่อแม่, ล้อปมด้อย, ต่อย, เตะ, ตบหัว, รุมทำร้ายร่างกาย, รุมด่า, รุมเมินเฉย, ไล่ออกจากกลุ่ม ฯลฯ

การกลั่นแกล้ง หรือการรังแก แบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลักๆ คือ 

  1. การกลั่นแกล้งทางวาจา เช่น การล้อชื่อพ่อชื่อแม่ การเรียกชื่อด้วยปมด้อย
  2. การกลั่นแกล้งทางความรู้สึก เช่น การด่าคำหยาบคายที่ส่งผลต่อความรู้สึก
  3. การกลั่นแกล้งทางกาย เช่น การต่อย แตะ ผลัก กระชากผม 
  4. การกลั่นแกล้งทางเพศ เช่น การจับอวัยวะลับ จับก้น จับหน้าอก
  5. การกลั่นแกล้งทางสังคม เช่น การเมินใส่ การไล่ออกจากกลุ่ม 
  6. การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เช่น การโพสเรื่องเท็จ การโพสข้อความที่ทำให้เสียหาย

ใครหลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องปกติของสังคมนี้อยู่แล้ว ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็ก คนอ่อนแอย่อมเป็นเหยื่อของคนที่แข็งแกร่งกว่า หรือหลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เรามีสิทธิ์เท่าเทียมกันมันไม่ควรเกิดขี้นและพยายามช่วยเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร "การแกล้ง หรือ การรังแก แล้วทำให้อีกฝ่ายรู้สึก ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ เสียใจ โกรธ แค้น หรือการทำร้ายความรู้สึกหรือร่างกายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้" ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะว่ามันส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย และก่อให้เกิดปัญหาสังคมในภายภาคหน้า ยกตัวอย่างเช่น 

  • ผู้แกล้ง :  สนุกกับการแกล้ง > เพิ่มระดับความรุนแรง > เสพติดรังแก/แกล้ง > ชอบใช้ความรุนแรงกดขี่ข่มเหงผู้อื่นในอนาคต

  • ผู้ถูกแกล้ง : เสียใจ เจ็บใจ  > สูญเสียความมั่นใจ  > เป็นโรคซึมเศร้า 

ซึ่งมันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่ในข่าวบ่อยๆ และแม้ว่าจะมีข่าวออกมามากแค่ไหน มีการรณรงค์มากแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้การกลั่นแกล้งหรือการรังแกลดลง หรือหายไปเลย นั่นก็เพราะช่วงเวลาที่เราเติบโตมา เราพบเจอกับการกลั่นแกล้งหรือการรังแกตลอดทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย จนถึงช่วงชีวิตการทำงาน ทำให้เกิดการซึมซับเรื่องพวกนี้อยู่ตลอด

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

"แล้วอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยน?"

ผู้เขียนอยากให้ทุกคนลองนึกดูดีๆ ว่าช่วงไหนที่เราเจอเหตุการณ์การกลั่นแกล้งหรือการรังแกมากที่สุด ? คำตอบคือช่วงในรั้วโรงเรียนมัธยม ช่วงที่ฮอร์โมนของเรากำลังพลุ่งพล่าน เลือดวัยรุ่นกำลังสูบฉีด ทำอะไรตามอารมณ์ไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง ช่วงนี้เองที่ใครหลายคนเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เริ่มรังแกคนอื่น และใครหลายคนก็เริ่มโดนกลั่นแกล้งหรือโดนรังแก ใครหลายคนอาจจะคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องปกติที่เห็นมาตลอด แต่จริงๆ แล้วมีบางสิ่งที่น่ากลัวกำลังเกิดขี้นในการแกล้งกัน......

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

"แกล้งมาแกล้งกลับ วัฒนธรรมการเอาคืนที่กำลังเกิดขึ้น!" 

อ้างอิงจากสถิติในงานวิจัย "การแกล้งกันของเด็กนักเรียนฯ" ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาทำให้เห็นว่า "เด็กนักเรียนมัธยม 1-6 และอาชีวศึกษา มีสัดส่วนของคนที่แกล้งและคนที่ถูกแกล้งใกล้เคียงจนเกือบจะเท่ากัน" 

  • 91% เคยถูกแกล้ง "จนถึงขั้นไม่พอใจหรือเสียความรู้สึก" และ 82% เคยถูกรังแกในโรงเรียน
    • 88% เคยถูกกลั่นแกล้งทางวาจา
    • 64% เคยถูกรังแกทางร่างกาย
    • 30% เคยถูกรังแกทางไซเบอร์
  • 90% แกล้งนักเรียนคนอื่น "จนไม่พอใจหรือเสียความรู้สึก" และ 76% เคยรังแกคนอื่น
    • 87% เคยถูกกลั่นแกล้งทางวาจา
    • 50% เคยรังแกคนอื่นทางร่างกาย
    • 20% เคยรังแกคนอื่นทางไซเบอร์

สัดส่วนทั้งสองมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า "นักเรียนหนึ่งคนเคยถูกแกล้ง และ เคยเป็นคนที่แกล้งคนอื่น" หรืออีกในความหมายหนึ่งคือ "แกล้งมาแกล้งกลับ" เมื่อถูกแกล้งหรือรังแกบ่อยๆ จะไม่ยอม จะตอบโตด้วยวิธีการที่รุนแรงกว่าเพื่อความสะใจ หรือรู้สึกสาสมกับสิ่งที่โดนกระทำ เช่น การต่อยคืน รวมกลุ่มกันหลายคนเพื่อขู่ให้หยุด การพาเพื่อนมาทำร้ายร่างกาย เป็นต้น นี่ถูกเรียกว่า "การเอาคืน"

และถ้าการเอาคืนมันได้ผล มันจะเปลี่ยนจาก "คนที่เคยโดนแกล้ง กลายเป็น คนที่แกล้งคนอื่นต่อ" เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งหรือถูกรังแก หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ "แกล้งคนอื่นก่อนที่จะตัวเองโดนแกล้ง" ซึ่งมันก็สมเหตุสมผล หากพวกขี้แกล้งเห็นว่าเราแกล้งไม่ได้ พวกนั้นก็จะไม่เข้ามายุ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะว่ามันก่อให้เกิด "วัฒนธรรมการเอาคืน" และมองว่าการแกล้งเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ถ้าผู้กระทำเคยชิน อาจจะติดเป็นนิสัยส่งผลให้อนาคตใช้การแกล้ง/รังแก/ข่มขู่/ทำร้ายร่างกาย เพื่อบังคับผู้อื่นทำตามความต้องการของตนเอง

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยอยู่ในจุด "ผู้โดนแกล้ง" และกลับกลายเป็น "ผู้แกล้งคนอื่น" บอกเลยว่าวิธีการเอาคืนได้ผลจริง และทำให้พวกขี้แกล้ง ไม่เข้ามายุ่งย่าม และไม่เข้ามาแกล้งเรา

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

"ล้อชื่อพ่อ-แม่ การแกล้งยอดนิยม"

เชื่อว่าเรื่องนี้ใครหลายคนต้องเคยเจอมาในช่วงชีวิตวัยเรียนตั้งแต่ประถมหรือมัธยมแน่นอน "กับการถูกล้อชื่อพ่อชื่อแม่" มันสอดคล้องกับผลสำรวจเป๊ะๆ ดังนี้

  • วิธีการแกล้งที่โดนทำบ่อยมากกว่า 1 ครั้ง / สัปดาห์ (ผู้ถูกกระทำ)
    1. โดนล้อชื่อพ่อชื่อแม่ 29.3%
    2. โดนด่าจนเจ็บใจหรือเสียใจ 23.7%
    3. โดนเรียกชื่อด้วยปมด้อย 18.7%
    4. โดนทำร้ายร่างกาย หรือขังไว้ในห้อง 6.9%
    5. โดนขโมย แย่งของ หรือทำให้เสียหาย 5.6%
  • ารแกล้งคนอื่นในช่วง 1 เทอมที่ผ่านมา (ผู้กระทำ)
    1. ล้อชื่อพ่อชื่อแม่ 22.1%
    2. ด่าคนอื่นจนเจ็บใจหรือเสียใจ 19.2%
    3. เรียกคนอื่นด้วยปมด้อย 11.4%
    4. ทำร้ายร่างกาย หรือขังไว้ในห้อง 6.5%
    5. ข่มขู่หรือบังคับให้เอาการบ้านหรือรายงานมาให้ลอก 3.7%

จากตัวเลขที่เห็นบอกได้ว่า "การล้อชื่อพ่อชื่อแม่เป็นวัฒนธรรมการกลั่นแกล้งของเด็กไทย" เช่น ไอสมชาย ไอสมหมาย ไอสมศรี  มันอยู่คู่เด็กนักเรียนไทยมาทุกยุคทุกสมัย และดูเหมือนจะไร้หนทางแก้ไข ลำดับต่อมาเป็นการด่าด้วยคำหยาบคายจนอีกฝ่ายเสียใจหรือเจ็บใจ เช่น ทำผลสอบออกมาไม่ดี เพื่อนจะแกล้งโดยการด่าว่า ไอโง่ ไอควาย เป็นต้น การแกล้งรวมไปถึงการเรียกชื่อเพื่อนด้วยปมด้อย เช่น ไอแว่น ไออ้วน ไอดำ ไอเหยิน ไอเตี้ย ไอด้วน ไอกำพร้า ไออิสลาม ไอแขก ฯลฯ แน่นอนว่าคำเหล่านี้จะฝังเข้าไปในใจของผู้ถูกกระทำจนอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง สุดท้ายเป็น "การรังแก" ที่มีระดับความรุนแรงมากกว่าการกลั่นแกล้ง นั่นก็คือ การทำร้ายร่างกาย หรือการกักขัง รวมถึงการข่มขู่หรือบังคับให้ทำตามในสิ่งที่ต้องการ

หากมองเป็นขั้นบันได การแกล้งด้วยวาจา (ล้อเลียน ด่าทอ เรียกปมด้อย) จะนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การรังแก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การข่มขู่ และข้ามไปสู่การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) อีกด้วย

การกลั่นแกล้ง? ปัญหาในรั้วโรงเรียนที่ถูกเมินเฉย

"เพราะแตกต่าง ไม่เหมือนคนหมู่มาก จึงถูกแกล้ง!"

"เพราะเราแตกต่าง จึงเป็นจุดเด่น" และเมื่อการที่เป็นจุดเด่นไม่เหมือนคนทั่วไป มีโอกาสที่จะถูกแกล้งมากกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่เรียนเก่งอาจถูกพวกขี้แกล้งบังคับให้เอาการบ้านมาลอก นักเรียนที่เงียบๆ มีเพื่อนน้อย นักเรียนที่ตัวเล็กกว่าคนอื่นๆ นักเรียนที่มีน้ำหนักมาก ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้มีความแตกต่างจากนักเรียนหมู่มาก หากดูจากสถิติที่ได้มา กลุ่มนักเรียนที่ถูกรังแกมากที่สุด เป็นนักเรียนที่มีเพศภาพ (LGBT) หรือนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยพวกเขาหรือเธอถูกกระทำโดยนักเรียนเพศชายมากที่สุด โดยแบ่งออกตามลำดับดังนี้

 

โดนแกล้งทางวาจา

โดนแกล้งทางเพศ

โดนแกล้งทางไซเบอร์

การแกล้งทุกประเภท

การรังแกทุกประเภท

ชาย

38.97%

3.74%

2.24%

69%

30.03%

หญิง

40.07%

2.99%

1.45%

61.02%

20.93%

LGBT

47.67%

8.46%

5.16%

87.42%

40.26%

ในตารางที่เห็นนี้บอกได้ว่า นักเรียนที่เป็น LGBT เป็นกลุ่มนักเรียนที่โดนแกล้งมากที่สุด และที่น่าตกใจก็คือผู้แกล้งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนผู้ชาย โดยสาเหตุหลักของการแกล้งหรือรังแกเกิดจาก "ความแตกต่าง" ที่ทำให้เขาหรือเธอเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม โดยคนที่แกล้งมักมีนิสัยไม่ยอมรับความแตกต่างเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นคนที่ใส่แว่นคนเดียวในห้อง เพื่อนหลายคนจะเรียกชื่อคุณว่า แว่น หรือ ไอแว่น กลับกันถ้าเพื่อนๆ ของคุณส่วนมากใส่แว่น จะมีคนเรียกคุณด้วยชื่อที่ว่าน้อยลง เช่นเดียวกันกับเรื่องนี้กลุ่มคน LGBT ณ เวลานี้มีจำนวนน้อยกว่านักเรียนชายและนักเรียนหญิงพวกเขาและเธอจึงเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ง่าย และสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งและรังแกจากคนที่ไม่ยอมรับในความแตกต่าง 

"ปรึกษาใครไม่ได้ ไม่กล้าบอกใคร ปัญหาใหญ่ของคนถูกแกล้ง"

หลายคนคิดว่าการถูกแกล้งแล้วบอกคนอื่นจะเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข็มแข็ง บอกไปก็ไม่ได้อะไร บอกแล้วโดนหนักกว่าเดิม ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ ทำให้คนที่ถูกแกล้งทั้งหมด 10 คน มีแค่ 4 คนเท่านั้น หรือร้อยละ 34 ที่ยอมเอ่ยปากบอกเล่าเรื่องราวให้คนรอบตัวรับรู้ ทั้งเพื่อน พี่น้อง ครู พ่อแม่ โดยมีสัดส่วนดังนี้

  • บอกเพื่อน 64.4% 
    • บอกเพื่อนแล้วไปเอาคืน หาเรื่องคืน ร้อยละ 27.8
    • รับฟังปัญหา ให้คำปรึกษา ร้อยละ 14.8 
    • หัวเราะซ้ำเติม ร้อยละ 13.9
  • บอกพี่หรือน้อง 37.1%
    • รับฟังปัญหาให้คำปรึกษา ร้อยละ 30.5
    • ไม่ทำอะไร ร้อยละ 16.7
    • แกล้งคืน ตามไปเอาเรื่อง ร้อยละ 9.4
  • บอกครูประจำชั้น 33.8%
    • ตักเตือนคนที่แกล้ง ร้อยละ 43.8
    • ลงโทษเพื่อนที่แกล้ง ร้อยละ 27.6
    • ไม่ทำอะไร ร้อยละ 5.9
  • บอกพ่อแม่หรือผู้ปกครอง 33.8%
    • รับฟังให้คำปรึกษา ร้อยละ 22.2
    • ตักเตือนคนที่แกล้ง / บอกพ่อแม่คนที่แกล้ง ร้อยละ 17.8
    • ไม่ทำอะไร ร้อยละ 16.2 

อย่างไรก็ดีปัญหาการแกล้งกันหรือการรังแกกันในประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงมากๆ จากสถิติของกรมสุขภาพจิตที่เผยออกมาช่วงปี 2018 ระบุไว้ว่า มีเด็กไทยกว่า 600,000 คนถูกแกล้งใน 1 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% สูงเป็นอันดับสองของโลกเลยทีเดียว 

"แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร"

ปัญหาเกิดจากมุมมองหรือความคิดของเด็กนักเรียนที่มีต่อการแกล้งหรือรังแกกัน เด็กมองว่ามันเป็นเรื่องปกติและทำได้ เด็กก็จะทำสิ่งเหล่านั้นและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ถ้ามีการสร้างค่านิยมใหม่ๆ เข้าไปว่าการแกล้งหรือการรังแกกันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ทำแล้วจะถูกลงโทษด้วยเหตุผลต่างๆ และมีผู้รับฟังปัญหาที่เป็นกลางไม่ลำเอียง น่าจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้แล้วครอบครัวยังมีส่วนเป็นอย่างมากในการให้ความอบอุ่นแก่เด็กๆ รับฟังปัญหาของเขาและช่วยให้เขาได้ระบายออกในทางที่ถูกต้อง สำหรับการแก้ปัญหาปลายเหตุหากเกิดการกลั่นแกล้งหรือรังแกขึ้นครูต้องช่วยแก้ปัญหาโดยการตัดสินอย่างเป็นธรรมและปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนให้เท่าเทียมกัน 

สรุป

กลับมาที่คำถามว่า "เราเมินเฉยต่อปัญหาการแกล้งกันเปล่า ?" เวลาที่มีใครสักคนพยายามบอกเล่าบางสิ่งบางอย่างที่เลวร้าย เราควรรับฟังและช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างตั้งใจ การพูดว่า แค่นี้เอง อย่าทำตัวอ่อนแอ อดทนหน่อย หรือหัวเราะใส่ มันจะยิ่งทำให้ผู้ที่ถูกแกล้งรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น และจะไม่กล้าปรึกษาอีก หรือถ้าไม่มีการบอกเล่าเราควรหมั่นเอาใจใส่ สังเกตคนรอบข้างว่ามีอาการเก็บตัวหรือไม่ ของหายบ่อยหรือเปล่า หรือตามเนื้อตามตัวมีรอยฟกช้ำตรงไหน เพื่อถามไถ่ความเป็นมา

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณสถิติและข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย "การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพและปริมณฑล" จากงานแถลงข่าวที่ทาง dtac ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น

และหวังว่าทุกคนจะตระหนักว่า การแกล้งกันหรือรังแกกันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ มันส่งผลเสียต่อผู้ถูกแกล้งมหาศาล อันจะเห็นได้จากข่าวต่างๆ ที่มีการแกล้งหรือรังแกกันจนถึงแก่ความตาย หรือแกล้งกันจนคนที่โดนแกล้งตัดสินใจฆ่าตัวตาย และยังมีอีกหลายคนที่โดนแกล้งจนป่วนเป็นโรคซึมเศร้าและสูญเสียความสุขในชีวิตไป ถ้าเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ หรือลองคิดดูสิว่าถ้าเป็นตัวผู้อ่าน เป็นเพื่อนของผู้อ่าน เป็นน้อง หรือเป็นญาติที่โดนกลั่นแกล้ง จะรู้สึกอย่างไร 


ที่มา : www.dmh.go.th , www.dmh.go.th , www.freepik.com , www.freepik.com


0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%87%3F+%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A2
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
How to ....
 
 
 

ข่าวไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น