Amazon ยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับอุปกรณ์ Echo ที่จะสามารถฟังการสนทนาและให้คำแนะนำกับผู้ใช้ได้ ซึ่งเป็นข้อกังขาว่าจะเป็นคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้ากันแน่
ถ้าเกิดว่าเราพูดคุยกันใกล้ ๆ เครื่อง Amazon Echo แล้วปรากฏว่ามันสามารถพูดตอบกลับมาได้จะเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่บริษัทเพิ่งยื่นจดสิทธิบัตรในเรื่องดังกล่าวซึ่งจะคอยดักฟังบทสนทนารอบๆ อุปกรณ์เพื่อนำไปประมวลผลและสามารถใช้ในการแนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ที่เหมาะสมแก่ผู้ใช้ได้
แนวคิดนี้จะช่วยเปลี่ยน Alexa ให้กลายเป็นผู้ช่วยเสมือนโดยจากที่ต้องคอยฟังคำสั่งจากผู้ใช้อย่างเดียว มันจะสามารถคาดการณ์ความต้องการของผู้ใช้ได้ ยกตัวอย่างข้อความในสิทธิบัตรที่ระบุว่า “ถ้าผู้ใช้มีการพูดว่าอยากไปร้านอาคารในขณะที่คุยโทรศัพท์ อาจจะมีคำแนะนำให้ผู้ใช้สามารถทำการจองที่นั่งที่ร้านอาหารได้ในขณะที่ผู้ใช้ยังคงสนทนาโทรศัพท์อยู่” นอกจากนี้ยังมีพูดถึงการบันทึกข้อมูลในบทสนทนา อย่างเช่นถ้ามีการพูดว่าชอบเล่นสกีหรือเกลียดการวาดภาพ เครื่องก็จะนำข้อมูลดังกล่าวไปอัพเดทโปรไฟล์ของผู้ใช้
Amazon กล่าวว่า สิทธิบัตรดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอสำหรับอนาคตและยังไม่ใช่คุณลักษณะที่เตรียมจะนำไปใช้ในเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า “เช่นเดียวกับบริษัทต่างๆ เราได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรที่จะนำไปใช้พัฒนาได้ในอนาคตตามความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยแต่ละสิทธิบัตรต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้การรับรอง และไม่ได้หมายถึงเราได้นำมาใช้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบัน” ในความเป็นจริงบริษัทได้ย้ำมาตลอดว่า เครื่อง Echo ไม่สามารถส่งข้อมูลเสียงที่บันทึกกลับมายังบริษัท Amazon ได้ เว้นเสียแต่มันจะทำงานเมื่อได้ยินคำเรียกที่กำหนดไว้ เช่น “Alexa” “Echo” หรือ “คอมพิวเตอร์” เป็นต้น โดย Amazon ยังได้ย้ำเพิ่มเติมว่า “เราไม่เคยใช้ข้อมูลเสียงที่บันทึกไว้เป็นข้อมูลในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรดังกล่าวทำให้บริษัทตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับ Facebook ในการถูกกล่าวหาด้วยทฤษฎีสมคบคิดโดยในเครือข่ายสังคมออนไลน์มีกระแสข่าวโจมตีว่า Facebook มีการดักฟักเสียงผ่านไมค์ของสมาร์ทโฟน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายโฆษณา
นับว่าเป็นเรื่องโชคร้ายสำหรับทั้งสองบริษัทเมื่อทั้ง Facebook และ Amazon ล้วนใช้ข้อมูลของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นข้อความที่ตอบโต้กับเพื่อน หรือข้อมูลการซื้อของในอดีตเพื่อใช้กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะอย่าง นั่นทำให้เกิดข้อสงสัยว่าพวกเขาแอบฟังข้อมูลสนทนา แต่ความจริงก็คือข้อมูลที่พวกเขามีเกี่ยวกับลูกค้าล้วนมาจากข้อมูลที่ลูกค้าเต็มใจอัพโหลดขึ้นไปยังไซต์ของพวกเขาเอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็มากเพียงพอที่จะใช้ในการกำหนดเป้าหมายโฆษณาตามที่เห็นกัน
|