เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567 (ค.ศ.2024) จากมอสโกประเทศรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะแบนการจำหน่ายซอฟต์แวร์ Kaspersky เป็นกลยุทธ์แบบเดิม ๆ ที่ใช้เพื่อกีดกันการแข่งขันจากต่างชาติ กับสินค้าของอเมริกาเอง
รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) ว่าจะแบนการจำหน่ายซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสของบริษัท Kaspersky Lab โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงชาติ โดยระบุว่ารัฐบาลรัสเซียมีอิทธิพลต่อบริษัท Kaspersky ซึ่งอาจใช้เป็นช่องทางในการรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันเป็นอาวุธ
Kaspersky เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ชั้นนำจากรัสเซีย ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ.2540) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย มีผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส และมัลแวร์, โซลูชันรักษาความปลอดภัยสำหรับเครือข่าย อุปกรณ์เคลื่อนที่ และระบบเสมือนจริง รวมทั้งให้บริการฝึกอบรม และให้คำปรึกษาด้านการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์
จีนา เรมันโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวว่า "รัสเซียแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความสามารถ และความตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์จากบริษัทรัสเซียอย่าง Kaspersky เพื่อรวบรวม และนำข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันไปใช้เป็นอาวุธ"
ภาพจาก : https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-05-12/putin-s-spokesman-gets-virus-as-russia-overtakes-spain-to-no-2?embedded-checkout=true
ด้านนายดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า บริษัท Kaspersky เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในตลาดโลก และการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะจำกัดการจำหน่ายซอฟต์แวร์ เป็นเพียง "กลยุทธ์การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สไตล์สหรัฐฯ" เท่านั้น
บริษัท Kaspersky แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยระบุว่า บริษัทจะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อปกป้องการดำเนินธุรกิจ และเชื่อว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้มาจาก "การประเมินผลิตภัณฑ์ และบริการของKaspersky อย่างครอบคลุม" และยืนยันว่าบริษัทดำเนินงานโดยภาคเอกชน และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับรัฐบาลรัสเซีย
|