ก่อนหน้านี้ Google ได้ปล่อยฟีเจอร์ Fact Check ออกมาให้ใช้งานบน YouTube, Google News และ Google Search เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะเชื่อข้อมูลนั้นๆ หรือแชร์ต่อไปให้บุคคลอื่น และล่าสุดทาง Google ก็ได้ออกมาประกาศ เพิ่มฟีเจอร์ Fact Check ใน Google Image เข้ามาเป็นที่เรียบร้อย
รูปภาพและวิดีโอเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คนส่วนมากเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่สื่อเหล่านี้เองก็มีการปลอมแปลงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการเพิ่ม Fact Check เข้ามาใช้งานร่วมกันนี้ก็จะช่วยให้เราสามารถเช็คความน่าเชื่อถือของทั้งรูปภาพและเนื้อหาของข่าวหรือบทความนั้นๆ ก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ต่อไปได้
สำหรับวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลนั้น ทาง Google ระบุว่าได้ใช้หลักการ ClaimReview ของ Schema ร่วมกับแหล่งข้อมูลอิสระเข้ามาช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลส่วนนี้เช่นเดียวกับที่ใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลบนแพลทฟอร์มอื่นๆ
โดยเมื่อค้นหารูปภาพที่อาจเป็นข้อมูลเท็จก็จะมีหัวข้อ Fact Check ปรากฏขึ้นบริเวณด้านข้างของเว็บไซต์ที่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้ว เมื่อกดดูรูปภาพขนาดใหญ่ก็จะมีคำอธิบายโดยย่อของข้อมูลในรูปภาพนั้นๆ ด้านล่าง Thumbnail ของผลการค้นหารูปภาพ
ภาพจาก : https://www.blog.google/products/search/bringing-fact-check-information-google-images
แต่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนี้จะ ไม่กระทบกับ Ranking ของการค้นหาบน Google ดังนั้นจึงมีโอกาสที่รูปภาพที่เป็นเท็จนั้นจะมีการแสดงผลอยู่ด้านบนและได้รับความนิยมที่มากกว่าข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ทางบริษัทจึงแนะนำให้ผู้ใช้มองหาเครื่องหมาย Fact Check บนรูปภาพต่างๆ ก่อนที่จะเชื่อถือข้อมูลนั้นๆ และสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแบบไม่ต้องเลื่อนหาเครื่องหมาย Fact Check ก็สามารถพิมพ์หัวข้อที่ต้องการลงใน https://toolbox.google.com/factcheck/explorer ได้
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |