เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่ยังคงน่าวิตกกังวล หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้เริ่มมีนโยบาย Social Distance แปลไทยตรงๆ ก็ "ระยะทางสังคม" คือ ลดการพบปะเจอกัน ระงับกิจกรรมที่คนมารวมตัวกัน เพื่อลดอัตราการแพร่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ตอนนี้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การทำงานจากที่บ้าน (Remote Working) เป็นนโยบายที่ตอนนี้หลายบริษัทเริ่มประกาศใช้ หรือโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มสอนแบบออนไลน์แทน (Online classes) ซึ่งไม่ว่าจะการเรียน หรือการทำงาน ก็จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาที่ตามมา คือ ความเสี่ยงด้านอาชญากรรมด้านไซเบอร์ (Cybercrime) ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วยเป็นเงาตามตัว
จากปัญหาของ COVID-19 ทำให้บริษัทส่วนใหญ่จำเป็นต้องเร่งใช้มาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน โดยใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาช่วย แฮกเกอร์ก็อาศัยจังหวะนี้ในการโจมตีเหยื่อที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากนัก
แม้การทำงาน หรือเรียนแบบออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณของจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นมากอย่างกะทันหันย่อมทำให้แฮกเกอร์มีโอกาสโจมตีมากขึ้น จากเดิมที่พนักงานเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายในบริษัทที่มีทีมไอทีคอยดูแล ถูกเปลี่ยนไปเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ตในบ้านที่มีความปลอดภัยต่ำกว่า หรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยเทียบเท่ากับในองค์กร
ความห่างไกลจากเพื่อนร่วมงานก็มีผลด้วยเช่นกัน ในที่ทำงานเมื่อคุณเจอปัญหาอย่างมีอีเมลแปลกๆ หรือหน้าต่างลิงก์น่าสงสัยที่คุณไม่แน่ใจปรากฏขึ้นมา คุณอาจจะถามเพื่อนก่อน หรือหากคลิกไป ระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทก็ช่วยป้องกันเอาไว้ได้ แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บ้านมันอาจไม่เป็นเช่นนั้น
นักวิจัยด้านความปลอดภัยระบุว่า ในระยะเริ่มต้นแฮกเกอร์จะอาศัยประโยชน์จากความหวาดกลัวที่คนมีต่อไวรัส COVID-19 ในการหลอกล่อให้เหยื่อติดกับ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องทางทฤษฏี แต่ได้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เพียงแต่คาดว่ามันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และจากรายงานด้านความปลอดภัยพบว่าค้นพบปริมาณการแฮกที่อยู่ในธีมของ COVID-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคฟิชชิ่ง, สร้างเว็บปลอม หรือซ่อนมัลแวร์มากับไฟล์เอกสาร
นอกจากนี้ นักวิจัยด้านความปลอดภัยยังได้ให้ความเห็นว่า การทำงานที่บ้าน พนักงานมักจะถูกรบกวนจากสิ่งเร้ารอบตัวได้มากกว่าปกติ พวกเขามักจะทำงานไปด้วยพร้อมกับเช็คอีเมลส่วนตัว หรือเข้าชมเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวกับงานมากกว่าเวลาอยู่ในที่ทำงาน ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากไปอีก
บริษัท หรือสถานศึกษา จึงควรกำชับ และให้ความรู้ด้าน Cybercrime แก่พนักงานที่ต้องทำงานที่บ้านให้มากขึ้นด้วย เรียกได้ว่าต้องป้องกันทั้งไวรัส COVID-19 และไวรัสคอมพิวเตอร์ไปอย่างพร้อมเพรียงกัน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |