Opensignal หน่วยงานวิจัยอิสระทางด้านประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของผู้คนทั่วโลก โดยล่าสุดทาง Opensignal ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G ใน 77 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทำวิจัยนี้ด้วย โดยมีกราฟที่น่าสนใจดังนี้
สามารถคลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
ข้อมูลรวบรวมในช่วง 1 ม.ค. 2018 - 31 ธ.ค. 2018
โดยเป็นกราฟเปรียบเทียบความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่าย 4G ของแต่ละประเทศ (หน่วยความเร็วการดาวน์โหลดข้อมูลคือ Mbps) โดย ค่าสีส้ม คือความเร็วต่ำสุดในช่วงวัน ในส่วน ค่าสีน้ำเงิน คือความเร็วสูงสุดในช่วงวัน โดยประเทศประเทศที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่าย 4G ในระดับท็อปๆ หัวตารางคือ เกาหลีใต้ ที่มีค่าความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 55.7 Mbps และต่ำสุดที่ 40.8 Mbps และประเทศ สิงคโปร์ ที่มีค่าความเร็วสูงสุดที่ 54.7 Mbps และต่ำสุดที่ 41.4 Mbps
ส่วนประเทศไทย ค่าความเร็วการดาวน์โหลดผ่านเครือข่าย 4G นั้นอยู่ท้ายๆ ตาราง (ตามที่ขีดเส้นสีแดง) โดยความเร็วการดาวน์โหลดสูงสุดในช่วงวันอยู่ที่ 11.7 Mbps และค่าความเร็วต่ำสุดในช่วงวันอยู่ที่ 6.0 Mbps
***หมายเหตุ : คาดว่าที่ค่าความเร็วเฉลี่ย 4G ของไทย วัดออกมาได้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ใช้งานชาวไทยบางส่วนได้ใช้แอปฯ ของ Opensignal ทำการทดสอบความเร็วเน็ต 4G ในช่วงที่แพ็กเกจข้อมูลหมด ทำให้ความเร็วดรอปลงค่อนข้างมาก ฉุดให้ค่าเฉลี่ยต่ำลง
ข้อมูลรวบรวมในช่วง 1 ม.ค. 2018 - 31 ธ.ค. 2018
อีกหนึ่งกราฟจาก Opensignal ที่น่าสนใจคือ การแสดงค่าความเร็วเฉลี่ยการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่าย 4G ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความหนาแน่นของการที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลผ่านเครือข่าย 4G พร้อมๆ กัน โดยข้อมูลการวิเคราะห์จาก Opensignal ชี้ชัดว่าความเร็วของระบบ 4G เริ่มลดลงทันทีในเวลาที่ผู้คนเริ่มตื่นนอน (และเริ่มหยิบมือถือมาเล่น) โดยเริ่มตั้งแต่เวลาตี 4 เป็นต้นไป (4 am) ซึ่งผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือโดยทั่วไป นั้นใช้ระบบเครือข่ายที่มีการแชร์ความเร็วกันในกลุ่มผู้ใช้งาน ยิ่งมีคนเข้าใช้งานพร้อมๆ กัน ความเร็วจะถูกหารแบ่งกันไป ทำให้ความเร็วการดาวน์โหลดข้อมูลลดลง และกราฟความเร็วลดลงต่ำสุดในช่วงเวลา 3 ทุ่ม (9 pm) ก่อนที่ความเร็วจะดีดกลับไปสูงขึ้นเมื่อผู้คนเริ่มเข้านอน
ซึ่งความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ 4G ที่มีความผันผวนเป็นอย่างมากในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นผลจากความหนาแน่นของจำนวนผู้ใช้งาน ซึ่งค่าความเร็วที่ลดลง เป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับการใช้งานกับแอปพลิเคชัน รวมถึงรูปแบบการประยุกต์ใช้งานข้อมูลผ่านอุปกรณ์โมบายในยุคถัดไป อย่างเช่น การประชุมจากระยะไกลที่ต้องการส่งข้อมูลทั้งภาพ และเสียงในระดับความละเอียดสูง เสมือนว่าผู้เข้าร่วมการประชุมมานั่งร่วมอยู่ในห้องเดียวกัน การประยุกต์ใช้เครือข่ายไร้สายในรูปแบบนี้ ต้องการความเร็วและความเสถียรในการสื่อสารข้อมูล ซึ่งถ้าขาดความเร็วและเสถียรภาพ ก็ไม่อาจทำให้การใช้งานในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้จริง และเป็นข้อจำกัดของการสื่อสารข้อมูลแบบ 4G ในยุคปัจจุบัน โดยที่ระบบเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลแบบ 5G ที่นอกจากจะมีความเร็วที่สูงกว่า 4G แล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ความเสถียรในการสื่อสารข้อมูลในระดับความเร็วสูงที่ทำได้ดีกว่า
โดยในทางทฤษฎีแล้ว เครื่องข่าย 5G สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 20 Gpbs (กิกะบิตต่อวินาที) ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ Massive MIMO และให้ความเร็วในการเชื่อมต่อที่ 10 Gpbs กับการเชื่อมต่อแบบมาตรฐาน
ในขณะที่เครือข่าย 4G ทำความเร็วได้สูงสุดได้เพียง 100 Mbps ในช่วงที่มีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง (อย่างเช่นการใช้งานมือถือในขณะที่นั่งรถ หรือรถไฟ) และทำความเร็วได้ 1 Gbps ในช่วงที่อยู่กับที่ หรือตอนที่เรากำลังเดิน
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |