Peggy Whitson นักบินอวกาศหญิงของ NASA (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) ที่เพิ่งกลับมาสู่พื้นโลก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ออกมาเผยถึงเรื่องที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับการเข้าห้องน้ำในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจอยู่บนอวกาศนานถึง 665 วัน ซึ่งเป็นสถิติการอยู่บนอวกาศแบบต่อเนื่องที่นานที่สุด ณ ปัจจุบัน
Whitson เผยผ่านเว็บไซต์ Business Insider ว่าตอนที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) นักบินอวกาศปัสสาวะด้วยวิธีการที่ค่อนข้างง่าย ด้วยการปัสสาวะลงไปในท่อที่ส่วนบนจะเป็นกรวยไว้สำหรับรองรับของเหลว โดยจะมีพัดลมช่วยดูดปัสสาวะลงไปในท่อก่อนที่จะลอยออกมา ซึ่งหลังจากผ่านไป 8 วัน ปัสสาวะที่ถ่ายออกมาส่วนใหญ่ 80-85 เปอร์เซ็นต์ จะถูกแปรสภาพให้กลับมาเป็นน้ำดื่มสำหรับนักบินอวกาศต่อไป
แต่สำหรับการถ่ายของเสียที่เป็นอุจจาระนั้น Whitson เล่าว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายกว่า เพราะจะต้องพยายามถ่ายอุจจาระให้ลงในรูเล็กๆ บนกระป๋องสีเงินในห้องน้ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่รัสเซียสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 19,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 6 แสนบาท จากนั้นพัดลมจะดูดของเสียลงไปในถุงพลาสติก
หลังจากที่เสร็จภารกิจดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องปิดปากถุงให้สนิท ซึ่งหากว่าถุงใส่อุจจาระเริ่มจะเต็ม เธอก็ต้องใส่ถุงมือเพื่อกดมันลงไปให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่หากว่ามีอะไรผิดพลาดในกระบวนการเหล่านี้ หรือว่าห้องน้ำทำงานผิดปกติขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของนักบินอวกาศที่จะต้องไล่จับของเสียที่ลอยออกมา แต่สุดท้ายแล้ว ของเสียทั้งหมดนี้จะถูกส่งไปอยู่บนยานอวกาศ รวมกับขยะอื่นๆ บน ISS ก่อนจะส่งกลับมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อกำจัดต่อไป
ส่วนใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าห้องน้ำบน ISS จะใช้งานจริงๆ ได้อย่างไร ลองหาคำตอบกันได้จากคำอธิบายวิธีการใช้งานโดย Samantha Cristoforetti นักบินอวกาศหญิงชาวอิตาเลียนในคลิปวิดีโอข้างล่างนี้
|