ลองจินตนาการดูว่า มันจะดีขนาดไหนถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลขนาด 200 เทราบิต หรือเทียบเท่ากับไฟล์หนังทุกเรื่องที่ฮอลลีวูดเคยสร้างมา ลงในหน่วยเก็บข้อมูลที่มีขนาดเล็กเพียง 1 ตารางนิ้ว และนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด อ้างอิงจากผลงานวิจัยล่าสุดจาก University of Manchester นักวิทยาศาสตร์สามารถแสดงวิธีการควบคุมสภาพความเป็นแม่เหล็กของโมเลกุลในบางระดับ เพื่อให้พวกมันสามารถเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ แต่ข่าวร้ายก็คือ เราต้องเก็บข้อมูลไว้ที่ระดับความเย็นติดลบ 213 องศาเซลเซียส (60 องศาเคลวิน)
โดยด็อกเตอร์ David Mills ที่เป็นอาจาร์ยสาขาวิชาเคมีอยู่ที่ University of Manchester ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Digital Trends ว่า "พวกเราได้สร้างโมเลกุลรูปแบบใหม่ ที่สามารถเก็บข้อมูลในสภาพของแม่เหล็กที่ระดับความเย็น 60 องศาเคลวิน และเมื่อย้อนกลับไปในปี 2011 เราสามารถสร้างระบบเก็บข้อมูลระดับโมเลกุล ที่ระดับอุณหภูมิ 14 องศาเคลวิน แต่การพัฒนาให้หน่วยเก็บข้อมูลนี้ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ระดับอุณหภูมิ 77 องศาเคลวิน ก็เป็นอะไรที่ยั่วยวนมากๆ เนื่องจาก 77 องศาเคลวินนั้น เป็นระดับอุณหภูมิของไนโตรเจนเหลว และหากเราสามารถเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ระดับอุณหภูมิ 77 องศาเคลวิลได้จริง จะทำให้เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะไนโตรเจนเหลวมีราคาถูกและหาซื้อง่าย และในช่วงนี้เรากำลังค้นคว้าลงไปในรายละเอียดของโมเลกุลชนิดนี้ เพื่อหาสาเหตุว่า ทำไมมันถึงสามารถเก็บข้อมูลได้ดีกว่าโมเลกุลชนิดอื่นๆ"
ซึ่งจุดเด่นอย่างชัดเจนของการที่ทำให้โมเลกุล สามารถเก็บข้อมูลดิจิทัลได้คือ จะทำให้เกิดหน่วยเก็บข้อมูลที่มีความหนาแน่นสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นไปได้ว่าศูนย์ข้อมูล (Data center) ทั่วโลกจะมีขนาดเล็กลง และเป็นไปได้ว่าในปี 2050 บริษัทไอทีชั้นนำต่างๆ อย่างเช่น Google จะไม่ต้องขยายพื้นที่ หรือเพิ่มไซต์ของ Data center อีกต่อไป เพราะเราสามารถเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลในพื้นที่ที่เล็กลง
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |