น่าตื่นเต้นสุดๆ กับข่าวที่นาซ่า (NASA) เพิ่งแถลงการณ์ไปเมื่อวาน เกี่ยวกับการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลกทั้ง 7 ดวง ซึ่งโคจรอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ในลักษณะคล้ายคลึงกับระบบสุริยะจักรวาลของเรา นับเป็นก้าวสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ค้นพบยังเชื่อว่าดาวเคราะห์ 3 ใน 7 ดวงที่ถูกค้นพบนี้ มีอุณหภูมิ สภาพแวดล้อม และองค์ประกอบสำคัญอย่างเช่น น้ำในสถานะของเหลว ที่คาดว่าน่าจะใช้เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตได้
ระบบสุริยจักรวาลใหม่นี้ ตั้งอยู่ห่างจากโลกของเราราวๆ 40 ปีแสง หรือประมาณ 235 ล้านล้านไมล์!! สำหรับเราอาจจะดูเป็นระยะทางที่ไกลแสนไกล แต่ในทางดาราศาสตร์ระยะทางดังกล่าวนับว่าใกล้มาก
ส่วนหนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว พวกเขาค้นพบมันมาก่อนแล้ว 3 ดวง (ดาวฤกษ์ 1 ดวง และดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลก 2 ดวง) จากการใช้กล้องโทรทรรศน์ Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope (TRAPPIST) ที่ตั้งอยู่ในประเทศชิลี และเรียกพวกมันว่า TRAPPIST-1 ตามชื่อกล้องที่ค้นพบ
จากการค้นพบในครั้งนั้น ผสานกับกล้องโทรทรรศน์ Spitzer ของนาซ่าที่อยู่ในอวกาศ พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์อีกหลายตัวบนภาคพื้น และของศูนย์สังเกตการณ์ทางตอนใต้ของยุโรป ทำให้เกิดการค้นพบดาวเคราะห์ที่เหลืออีก 5 ดวงเพิ่มเติม รวมทั้งหมดเป็น 7 ดวง
ถ้าประมาณการตามข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความหนาแน่นดาวเคราะห์พวกนั้นแต่ละดวง ดูเหมือนว่าพวกมันจะประกอบด้วยหินเป็นส่วนใหญ่ แถมการโคจรของพวกมันทั้งหมดรอบดาวฤกษ์ดวงนั้น ยังใกล้มากกว่าระยะการโคจรของดาวพุธ กับดวงอาทิตย์ของเราเสียอีก (ดาวพุธคือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด) ซึ่งพวกมันอยู่ใกล้กันมากขนาดที่ว่าหากเราอยู่ที่ดาวดวงหนึ่งในระบบนั้น เราจะสามารถมองเห็นดาวที่เหลือทั้งหมดด้วยตาเปล่าได้เลย
แผนการต่อไปของนาซ่าคือการปล่อยกล้องโทรทรรศน์ James Webb ขึ้นในไปในอวกาศอีกตัวในปี 2018 เพื่อช่วยเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าระบบสุริยะใหม่นี้ ในการค้นหาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ, ก๊าซออกซิเจน, ก๊าซมีเทน, โอโซน และองค์ประกอบอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศของดวงดาวพวกนั้น
ความฝันที่มนุษย์จะได้ย้ายไปอาศัยที่ดาวอื่น เหมือนอย่างในหนัง Star Wars หรือ Star Trek มันคงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงเร็วๆ นี้แน่ แต่ก็นะ ฝันให้ไกลเข้าไว้ เพราะสักวันเราก็อาจจะไปถึงได้ ใครจะไปรู้
|
ไม่ได้เชี่ยวชาญ แค่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นมือใหม่หัดเขียนข่าวไอที ถ้ามีอะไรผิดพลาดสามารถแนะนำได้นะครับ |