รู้หรือไม่ว่าไฟป่าไม่ได้เพียงแค่เผาทำลายเท่านั้น มันยังผลิตก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) หรือชื่อย่อ CO ออกมาเป็นจำนวนมากอีกด้วย ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นข่าว "ไฟไหม้ป่าแอมะซอน" มาบ้างและคงทราบแล้วว่า ป่าแอมะซอนเป็นเสมือนปอดของโลก ที่ผลิตออกซิเจน (Oxygen) ถึง 20% จากทั้งหมด หากผืนป่าฝนนี้หายไปโลกคงเกิดวิกฤติหนักอย่างแน่นอน
NASA maps carbon monoxide from #AmazonRainforest fires from orbit: https://t.co/xFvWUfDfVm pic.twitter.com/eRrp34QvGm
— NASA JPL (@NASAJPL) 23 สิงหาคม 2562
ล่าสุด NASA ออกมาเผยภาพข้อมูลชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับความสูง 18,000 ฟุต (หรือ 5.5 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล) จากการเก็บรวบรวมโดยระบบ Atmospheric Infrared Sounder (AIRS) ในดาวเทียม Aqua ของ NASA ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 สิงหาคม
โดยภาพข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ชั้นบรรยากาศของโลกได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอน อย่างเห็นได้ชัดคือ ระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) เพิ่มสูงขึ้นจนน่าใจหาย และได้กระจายตัวออกไปเป็นวงกว้าง
ทาง NASA อธิบายว่า ระดับความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มี 3 ระดับคือ สีเขียวมีความหนาแน่นในชั้นบรรยากาศประมาณ 100 ppbv (หน่วยนับความหนาแน่นของก๊าซ 1 ต่อพันล้าน) ส่วนสีเหลืองอยู่ที่ประมาณ 120 ppbv และสีแดงเข้มอยู่ที่ประมาณ 160 ppbv ซึ่งปกติแล้วมันจะถูกลมพัดพาให้กระจายตัวออกไป และอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 1 เดือน
และเสริมว่าปกติแล้วหากมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อยู่ในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่ยังโชคดีที่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ของป่าในครั้งนี้ "ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์สักเท่าไร" เพราะในบริเวณนั้นมีอากาศถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา และตัวก๊าซเองก็ถูกดันจากความร้อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
แต่ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์ไฟไหมป่าแอมะซอนในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 62 ที่ผ่านมา มีไฟไหมป่าเกิดขึ้นแล้วกว่า 9,500 จุด ซึ่งมากขึ้นกว่าก่อนหน้าถึงร้อยละ 83 จนทำให้บราซิลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดหรือดีขึ้นแต่อย่างใด
|
How to .... |