MMS หรือ Multimedia Message Service นับว่าเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่เกิดมาหลัง SMS (Short Message Service) ไม่นาน ถึงแม้จะมีการใช้งานอยู่เสมอ แต่ความนิยมก็ไม่ได้มากเท่ากับอย่างหลัง ทว่าวันนี้กลับกลายมาเป็นข่าวที่อาจทำให้หลายคนต้องประหลาดใจ
จากรายงานโดยเว็บไซต์ Cyber Security News ได้รายงานถึงแคมเปญการโจมตีครั้งใหม่ของแฮกเกอร์ ด้วยการส่งไฟล์วิดีโอผ่านระบบ MMS เพื่อโปรโมต Bitcoin Scam ซึ่งเป็นการหลอกให้เหยื่อเข้ามาร่วมลงทุน (คล้ายคลึงกับแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกโอนเงิน) โดยวิธีการดังกล่าวนั้นถูกตรวจพบโดยทีมวิจัยจาก Proofpoint บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งทางทีมวิจัยได้ตั้งชื่อวิธีการดังกล่าวว่า “VidSpam” แต่การโจมตีด้วย MMS ก็ได้ไม่จำกัดแค่แบบ VidSpam เท่านั้น ยังมีรูปแบบที่เรียกได้ว่าเป็นแบบดั้งเดิมก่อนที่จะพัฒนามาเป็นการใช้วิดีโอ นั่นคือการส่งรูปภาพเพื่อหลอกลวงเหยื่อ หรือ Image-Based Scams ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้
การหลอกด้วยรูปภาพนี้ค่อนข้างจะเรียบง่าย โดยแฮกเกอร์จะใช้รูปภาพของบุคคลที่ดูดีมีความน่าเชื่อถือ และข้อความที่น่าดึงดูดใจ โดยเฉพาะในแบบที่กระตุ้นความโลภของเหยื่อในโอกาสที่จะได้รวยเร็ว โดยถ้ามาร่วมลงทุนด้วยจะได้กำไรรายวัน พอเหยื่อคลิกลิงก์ ก็จะนำเหยื่อไปสู่ห้องแชทกลุ่มที่มีแฮกเกอร์เตรียมหลอกโอนเงินรออยู่
ภาพจาก : https://cybersecuritynews.com/hackers-leveraging-image-video-attachments/
ส่วนในรูปแบบของการใช้วิดีโอนั้นจะมีความซับซ้อนขึ้นมาอีกหน่อย นั่นคือแฮกเกอร์จะสร้างคอนเทนต์ที่คล้ายคลึงกับด้านบนแต่เป็นภาพเคลื่อนไหวแทนเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ น่าดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางวิดีโออาจเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสร้างเพื่อให้ดูดียิ่งขึ้น ซึ่งแฮกเกอร์จะส่งผ่านทาง MMS ด้วยไฟล์ .3GP เพื่อให้สามารถส่งได้ภายใต้ข้อจำกัดของการส่งด้วยวิธีนี้ ซึ่งตัววิดีโอจะมีการฝังลิงก์ที่จะพาเหยื่อไปยังกลุ่มแชท ในรูปแบบเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น
ภาพจาก : https://cybersecuritynews.com/hackers-leveraging-image-video-attachments/
นอกจากนั้นแล้วแหล่งข่าวยังได้รายงานอีกว่า นอกจากการหลอกให้เข้ากลุ่มแชทเพื่อโอนเงินลงทุนแล้ว ยังมีการพบข้อความที่มีจุดประสงค์เพื่อหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอันตราย หรือ มัลแวร์อีกด้วย ดังนั้นขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความระมัดระวังในการเปิดข้อความที่ได้รับจากกล่องข้อความบนโทรศัพท์มือถือทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
|