จากเหตุการณ์ที่ Crowdstrike พาเอาคอมพิวเตอร์ และระบบที่ใช้ Windows รวมหลายล้านเครื่องล่มพร้อมกันทั่วโลกจนอุตสาหกรรมสำคัญเป็นอัมพาตนั้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายไม่เคยพบเคยเจอ จนมีความกังวลใจว่าอนาคตข้างหน้าจะมีสิ่งแบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม แต่ด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนี้ อาจเป็นการยืนยันความกังวลใจนั้น
จากรายงานโดยเว็บไซต์ Think Digital Partners ศาสตราจารย์ Ciaran Martin อดีตหัวหน้าคณะผู้บริหารแห่งองค์กรต่อต้านภัยไซเบอร์แห่งสหราชอาณาจักร National Cyber Security Centre (NCSC) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งคุณ Martin ได้ให้ความเห็นว่า “โอกาสที่จะเกิดอีกนั้นมีอย่างแน่นอน ถ้าทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อกำจัดจุดอ่อนเชิงระบบของเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่”
โดยตามความเห็นของคุณ Martin นั้นเผยว่า "ความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นง่ายกว่าในสหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่สุดท้ายแล้ว หากจะมีการออกกฎระเบียบเพื่อพยายามแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ มันอาจจะต้องมาจากสหรัฐอเมริกา และเราทำอะไรได้มากนักเกี่ยวกับเรื่องนี้" (ผู้เขียน : เพราะซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ที่พวกเราใช้งานกันบนคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา)
นอกจากนั้นแล้ว แหล่งข่าวยังรายงานถึงความโกลาหลที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์ คอมพิวเตอร์ล่มทั่วโลกครั้งใหญ่ ซึ่งถึงแม้ผู้เกี่ยวข้องอย่าง Crowdstrike และ ไมโครซอฟท์ จะออกมาทำการแก้ไขไปแล้วแต่ก็ยังมีผลกระทบแบบลูกโซ่หลายอย่างที่ตามมา เช่น การที่แฮกเกอร์อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวนั้นในการหลอกลวงผู้ได้รับผลกระทบว่า ทางแฮกเกอร์ (ที่ปลอมตัวเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ) นั้นมีเครื่องมือที่จะแก้ปัญหา แต่ไฟล์ที่ดาวน์โหลดไปในรูปแบบ .Zip นั้นกลับเป็นมัลแวร์ ซึ่งทาง NCSC นั้นยังออกมาเปิดเผยว่า การโจมตีดังกล่าวไม่ได้เพียงมุ่งเน้นตัวองค์กร และยังพุ่งเป้าไปยังผู้ใช้งานทั่วไปอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์คอมพิวเตอร์ล่มยังส่งผลถึงบริการสำคัญ อย่าง บริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Healthcare Service หรือ NHS) ยังได้รับผลกระทบที่รุนแรงไปด้วย ที่ถึงแม้ระบบจะเริ่มกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้วก็ตาม แต่เหล่าผู้เกี่ยวข้อง เช่น เหล่าศัลยแพทย์ยังต้องทำงานอย่างหนักกับหมายนัดคนไข้จำนวนมาก ที่คงค้างอยู่ในระบบในช่วงที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงคลีนิก และโรงพยาบาลต่าง ๆ จำเป็นต้องทำการยกเลิกหมายนัดคนไข้ประจำ (Routine Appointments) จำนวนมากเนื่องจากไม่สามารถบริการให้ได้ในเวลาที่กำหนด และเภสัชกร ยังประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงคลังบันทึกใบสั่งยาดิจิทัล (Digital Prescription Records) ได้อีกด้วย
ถึงแม้ตัวอย่างปัญหาดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปยุโรป แต่ก็สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาในไทยได้เช่นเดียวกันว่า แท้จริงแล้วทางเรานั้นมีความพร้อมในการรับมือ จัดการ และปรับปรุงระบบที่มีปัญหาได้อย่างไร เพื่อที่จะเลี่ยงความเสียหายอย่างที่ประเทศข้างต้นต้องประสบ คงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งรัฐ และเอกชนจะต้องร่วมมือกันศึกษา และแก้ไขต่อไป
|