สำนักข่าว BBC ได้รายงานว่า ค่ายเพลงระดับยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Sony Music, Warner Records และ Universal Music Group ซึ่งเป็นบรรษัทด้านดนตรีระดับ Big 3 ของโลก ได้ทำการรุมฟ้องร้องสตาร์ทอัปด้าน Artificial Intelligence (AI) สองบริษัท Udio และ Suno ซึ่งเป็นผู้พัฒนา Generative AI สำหรับการเขียนเพลงด้วยการใช้วิธีการป้อนคำสั่ง (Prompt) ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน โดยในการฟ้องร้องนั้นมีการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนที่สูงถึง 150,000 เหรียญสหรัฐ ต่อผลงานที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ (หรือประมาณ 5 ล้าน 5 แสนบาท ต่องาน) โดยกรณีการฟ้องร้องดังกล่าวนั้น ทาง Suno ยังไม่ได้ให้ความเห็นใดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ส่วนทาง Udio นั้นได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า “ทางเราไม่เคยสนใจในการทำซ้ำ หรือลอกเลียนแบบผลงานตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด”
โดยการดำเนินฟ้องร้องดังกล่าวนั้นได้ถูกประกาศโดยสมาคมอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงแห่งสหรัฐอเมริกา (Recording Industry Association of America) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการฟ้องร้องบริษัท AI โดยเหล่าศิลปินผู้สร้างผลงาน, สำนักข่าว และ องค์กรเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานต่าง ๆ ในข้อหาที่กลุ่มบริษัทผู้พัฒนา AI นั้นได้นำเอาผลงานไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ศิลปินชื่อดังนับ 200 ราย รวมไปถึงระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง Billie Eilish และ Nicki Minaj ได้ทำการเข้าร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับผู้พัฒนา AI
สำหรับประวัติเบื้องต้นของบริษัสตาร์ทอัปที่ตกเป็นประเด็นทั้ง 2 บริษัทนั้น
Suno เป็นบริษัทที่มีพื้นเพมาจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ทางบริษัทนั้นมีการทำสัญญาพันธมิตรคู่ค้ากับทางไมโครซอฟท์ โดยได้มีการอ้างว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคน และได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนมากกว่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนทาง Udio เริ่มก่อตั้งครั้งแรกที่นิวยอร์กภายใต้ชื่อ Unchartz Labs โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนชื่อดังอย่าง Andreessen Horowitz โดยมีผลงานแรกที่สร้างจากเครื่องมือ AI ที่กล่าวมาข้างต้นในการสร้างเพลง “BBL Drizzy” ซึ่งเป็นเพลงล้อเลียนข้อพิพาทระหว่าง 2 ศิลปินชื่อดัง Kendrick Lamar และ Drake
ด้วยพื้นเพจของบริษัทที่อยู่ต่างถิ่นกันนี้เอง ทำให้ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ได้ทำการยื่นฟ้องศาลแขวงทั้งในนิวยอร์ก และแมสซาชูเซตส์โดยกล่าวหาว่า ทั้ง 2 บริษัทลอกเพลงที่ทางค่ายถือลิขสิทธิ์อยู่ และนำไปทำกำไรโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรอันเป็นการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยทางฝั่งผู้ฟ้องได้อ้างว่า
“ผลงานที่มาจากเครื่องมือเหล่านั้นไม่ได้นำพาการสร้างการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาใด ๆ และไม่มีเหตุผลอันสมควรเลยที่จะนำเอาผลงานเพลงซึ่งมีลิขสิทธิ์ไปป้อนเป็นข้อมูลเพื่อฝึกฝนเครื่องมือเหล่านั้นให้ทำผลงานลอกเลียนแบบออกมาเพื่อทำเงิน และการปล่อยให้มีเครื่องมือเหล่านี้อยู่นั้นจะนำภัยมาสู่ศิลปินที่เป็นคนจริง ๆ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการปกป้องในครั้งลิขสิทธิ์นี้ รวมไปถึงการปล่อยให้มีเครื่องมือเหล่านี้อยู่จะเป็นการทำร้ายวงการดนตรีในภาพรวมอีกด้วย”
โดยได้มีการยกตัวอย่างเพลง Prancing Queen ที่เป็นการลอกเลียนผลงานของวงดนตรีชื่อดังอย่าง ABBA ที่ทำออกมาเนียนจนแฟนเพลงยังเข้าใจว่าเป็นของทางวงเองซึ่งเป็นสิ่งที่ทางค่ายผู้ฟ้องร้องไม่อาจยอมรับได้
จากแหล่งข่าวนั้น การฟ้องร้องดูเหมือนจะพึ่งเริ่มต้นเท่านั้น และอาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะสามารถสรุปผลได้ แต่ผลออกมาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้สร้างสรรค์ผลงาน หรือฝ่ายนักพัฒนา AI อาจต้องทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพราะผลของคดีสามารถส่งผลในอนาคตสำหรับทั้ง 2 วงการได้
|