แรนซัมแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ นั้นเรียกได้ว่าเป็นมัลแวร์ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานปราบปรามอาชญากรไซเบอร์ นักวิจัยและพัฒนาเครื่องมือความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องมาจากความซับซ้อนในการทำงาน และการเข้ารหัสไฟล์ของมัลแวร์ตัวดังกล่าว ซึ่งนำมาซึ่งความเสียหายหลักหลายล้านจากการโจมตีหน่วยงานรัฐบาล บริษัทเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล ระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น และจากข่าวนี้ก็น่าจะสร้างความปวดหัวให้กับหน่วยงานข้างต้นมากขึ้นกว่าเดิม
จากรายงานโดยทีม Threat Hunter Team ซึ่งเป็นทีมตามล่าภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ที่ทางบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ยักษ์ใหญ่ Symantec ทำการจัดตั้งขึ้นมา ได้มีการตรวจพบการใช้งานช่องโหว่ Zero-day บนระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่อยู่บนระบบ Microsoft Windows Error Reporting Service ที่ทำให้แฮกเกอร์สามารถอัปเกรดสิทธิ์การเข้าถึงระบบให้ไปถึงระดับ SYSTEM ได้ ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าวได้ถูกตั้งชื่อว่าช่องโหว่ CVE-2024-26169
ภาพจาก https://socradar.io/dark-web-profile-black-basta-ransomware/##post-gallery-4
ซึ่งมัลแวร์ Black Besta ซึ่งเป็นมัลแวร์ประเภทแรนซัมแวร์ที่จะทำการล็อกไฟล์ต่าง ๆ บนเครื่องของเหยื่อเพื่อทำการเรียกค่าไถ่เป็นเงินนั้น ใช้ช่องโหว่ดังกล่าวเพื่อทำการฝังตัวลงบนเครื่องของเหยื่อได้อย่างง่ายดาย ภายใต้สิทธิ์การใช้งานในระดับที่สูงมากตามที่กล่าวมาข้างต้น
แต่ยังคงมีข่าวดีคือ ทางไมโครซอฟท์ได้รับทราบถึงช่องโหว่ดังกล่าว และได้ทำการอุดรอยรั่วไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่สำหรับผู้ที่ใช้ Windows เถื่อน หรือปิดการอัปเดตอัตโนมัติก็ยังคงอยู่ภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ ดังนั้น ขอให้กลุ่มเสี่ยง ทำการอัปเดต Windows เป็นเวอร์ชันล่าสุด หรือเปลี่ยนไปใช้ของแท้โดยด่วนเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลในเครื่อง
|