ในยุคสมัยปัจจุบันที่ AI ได้เข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ในวงการนวัตกรรม ซึ่งก็ได้มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ลงมาทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้คนทำงานนั้นสามารถทำงานกันได้ง่ายขึ้น แต่กระนั้นถึงแม้จุดประสงค์ของการพัฒนา AI เข้ามาในยุคนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในเชิงบวก ความฉลาดของตัว AI ก็สามารถใช้ในเชิงลบโดยผู้ไม่ประสงค์ดีได้เช่นเดียวกัน
จากรายงานโดยทีมวิจัยของบริษัทด้านเครื่องมือป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ชื่อดัง Kaspersky ได้เปิดเผยถึงความจริงที่น่าตกใจว่า “ทางเราพบว่า ในทุกวันนี้ถึงแม้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะถูกนำไปใช้เพื่อตรวจจับมัลแวร์ต่างๆ แต่แฮกเกอร์ก็ใช้มันเพื่อทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามในเวลาเดียวกัน”
โดยทางทีมวิจัยได้พบว่า อาชญากรทางไซเบอร์มากกว่าแสนราย ได้นำเอา AI เข้ามาใช้งานในการสร้างมัลแวร์ที่มีรูปแบบการโจมตีที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งปัจจุบันนั้น บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวนมากนั้นได้มีการนำเอา AI เข้ามาพัฒนาซอฟต์แวร์ป้องกัน อันเนื่องมาจากความรวดเร็วในการอ่าน และศึกษาข้อมูลจำนวนมากเพื่อเรียนรู้กลยุทธ์ที่มัลแวร์จะโจมตีเหยื่อ และตรวจจับได้แบบแทบจะเรียลไทม์ โดยตัว AI นั้นสามารถทำได้เร็วมากกว่าคนทั่วไปมาทำการพัฒนาและอัปเดต patch มาก แต่ความเร็วนี้ก็ช่วยให้แฮกเกอร์สามารถหาช่องโหว่ และอุดรอยรั่วเพื่อป้องกันการตรวจจับได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ทำให้มัลแวร์ตัวใหม่ ๆ นั่นมีความอันตราย และมีการโจมตีที่ซับซ้อน ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ทาง Kaspersky ยังได้เปิดเผยถึงข้อมูลการทำงานของเหล่าอาชญากรไซเบอร์อีกว่า เหล่าอาชญากรไซเบอร์นั้นปฏิบัติการทั้งในรูปแบบองค์กรขนาดใหญ่ที่มีผังองค์กรในการทำงานสลับซับซ้อน ไปจนถึงรายย่อยที่เปรียบเสมือนชุมชนใต้ดินที่ทำทั้งแยกย้ายกันพัฒนามัลแวร์ และร่วมกันพัฒนาคล้ายคลึงกับชุมชนของโปรแกรมเมอร์อย่าง GitHub หรือ Stack Overflow และแฮกเกอร์มักจะทำงานแบบกระจุกตัวในกลุ่มที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน พูดภาษาเดียวกัน
ภาพจาก https://slashnext.com/blog/ai-based-cybercrime-tools-wormgpt-and-fraudgpt-could-be-the-tip-of-the-iceberg/
นอกจากนั้นแล้วทาง Kaspersky ยังได้เปิดเผยถึงแหล่งที่มาหลัก ๆ ของมัลแวร์ในแต่ละประเภท โดยผลของการวิจัยนั้นพบว่า กลุ่มที่พัฒนา และปล่อยมัลแวร์ประเภทแรมซัมแวร์ หรือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ นั้นมักจะเป็นกลุ่มแฮกเกอร์จากรัสเซีย ซึ่งจะเพ่งเล็งในการไถเงินในรูปแบบคริปโตเคอร์เรนซีเสียเป็นส่วนมาก ขณะที่มัลแวร์ประเภท BotNet ที่มุ่งเน้นการแฝงตัวเพื่อโจมตีระบบ และขโมยข้อมูลนั้น มักจะเป็นกลุ่มแฮกเกอร์จากจีน ขณะที่มัลแวร์ประเภท Financial Malware ที่เน้นการขโมยข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัตรเครดิต ไปจนถึงการดูดเงินจาก Mobile banking นั้น มักจะมาจากเขตที่ผู้คนพูดภาษาโปรตุเกส และสเปน
ซึ่งทางนักวิจัยของ Kaspersky นั้นได้ให้คำแนะนำที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากภัยทางอินเทอร์เน็ตเพียงข้อเดียวคือ อย่าเชื่อใจคนแปลกหน้าบนโลกอินเทอร์เน็ต
|