เวลามีข่าวเกี่ยวกับการแฮ็กหลายคนมักจะคุ้นชินกันดีกับชาติที่มาของเหล่าแฮ็กเกอร์ ซึ่งโดยมากนั้นมักจะมาจาก รัสเซีย จีน อินเดีย และเกาหลีเหนือ ในครั้งนี้ก็นับเป็นเหตุการณ์อีกครั้งที่แฮ็กเกอร์รัสเซียได้เข้ามาพัวพันอีกครั้งหนึ่ง
โดยจากรายงานของสำนักข่าว CNN นั้น ได้มีการเปิดเผยว่าแฮ็กเกอร์ชาวรัสเซียได้ทำการเจาะเข้าระบบส่วนที่นับว่าเป็นแกนสำคัญของบริษัทไมโครซอฟท์ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการแฮฺ็กที่ต่อเนื่องมาจากการเจาะระบบเพื่อเข้าถึงอีเมลของผู้บริหารระดับสูงในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองกับที่ทางไมโครซอฟท์ได้ถูกเจาะระบบอีเมลนั้น ทางฮิวเล็ท แพ็คการ์ด (Hewlett Packard หรือ HP) ก็ได้ถูกเจาะระบบอีเมลในรูปแบบเดียวกัน
ซึ่งทางไมโครซอฟท์ได้เปิดเผยผ่านรายงานที่ส่งถึง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ กลต. (US Securities and Exchange Commission หรือ SEC) ถึงเหตุการณ์แฮ็กครั้งล่าสุดนี้ว่า ทางบริษัทสันนิษฐานว่าแฮ็กเกอร์ได้ใช้ข้อมูลจากอีเมลที่เจาะได้ในการเข้าถึงส่วนเก็บรักษารหัสต้นทาง หรือ ซอร์สโค้ด (Source code) รวมไปถึงแฮ็กเกอร์ยังสามารถเข้าถึงระบบภายในขององค์กรได้อีกด้วย โดยการพยายามเข้าถึงซอร์สโค้ดของบริษัทนั้นเป็นหนึ่งในความพยายามของแฮ็กเกอร์ที่จะใช้ประโยชน์ในการศึกษาเพื่อเจาะระบบซอร์ฟแวร์ต่างๆของไมโครซอร์ฟในอนาคตต่อไป
จุดประสงค์ของแฮ็กเกอร์กลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญในเปิดเผยว่า แฮ็กเกอร์กลุ่มนี้มีปฏิบัติการหลายครั้งที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากทางรัฐบาลรัสเซีย โดยมีส่วนร่วมในการเจาะระบบอีเมลของทางหน่วยงานในรัฐบาลของทางสหรัฐอเมริกาผ่านซอร์ฟแวร์ SolarWind ซึ่งเป็นซอร์ฟแวร์ของบริษัทภายใต้สัญญาจ้างของทางรัฐบาลสหรัฐ โดยในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ผ่านมา ทางกลุ่มแฮ็กเกอร์สามารถเข้าถึงอีเมลของ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ (Departments of Homeland Security and Justice) สำเร็จจนได้ข้อมูลจำนวนมากออกไป
สำหรับเหตุการณ์แฮ็กเกอร์เจ้าเข้าระบบของไมโครซอฟท์ในครั้งนี้นั้น ทางบริษัทยังคงยืนยันกับลูกค้าว่า "ระบบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้านั้นยังคงปลอดภัยอยู่ ยังไม่พบการแฮ็กเกิดขึ้นในส่วนนี้"
|