เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาประสาทสัมผัสทั้ง 5 (รูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส) นั้น การจะสอน AI (Artificial Intelligence) ให้เรียนรู้และสามารถแยกแยะ “กลิ่น” ต่างๆ ได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะการตีความกลิ่นของมนุษย์มักขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวและความเคยชินของบุคคลนั้นๆ มากกว่าประสาทสัมผัสในด้านอื่นๆ
และหลายบริษัทเองก็ได้พยายามที่จะทดลองฝึกฝน AI ให้สามารถแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ IBM ก็ได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ด้วย และล่าสุดบริษัท Intel เองก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัย Cornell (มหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกับ Google ในการฝึกฝนการจำแนกกลิ่นของ AI) ในการ พัฒนาความสามารถของ Neuromorphic Chip (ชิปคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วและมีหลักการทำงานคล้ายกับสมองของมนุษย์) ให้สามารถ แยกแยะและจดจำกลิ่นของสารเคมีที่เป็นอันตรายได้
ชิป Loihi ของบริษัท Intel
โดยทั้งสองสถาบันนี้ได้ พัฒนาอัลกอริทึมภายในชิป Loihi (Neuromorphic Chip ของทางบริษัท Intel) ที่ภายในตัวชิปจะมีตัวรับและส่งถ่ายข้อมูลทั้งหมด 130,000 ตัวและแต่ละตัวก็จะเชื่อมต่อกับตัวอื่นๆ ราว 130 ล้านรูปแบบภายใน SNN (Spiking Neural Network หรือโครงข่ายประสาทสังเคราะห์ของ AI ที่เลียนแบบหลักการประมวลผลและการทำงานของสมองมนุษย์) ให้มีความ คล้ายคลึงกับหลักการดมกลิ่นของมนุษย์ เพื่อแยกแยะกลิ่นต่างๆ
นักวิจัยได้ทำการจำลองหลักการการทำงานของสมองรูปแบบนี้มาไว้ในวงจรซิลิคอนภายในตัวชิป Loihi โดยได้ สร้างชุดข้อมูลทางเคมี ของกลิ่นต่างๆ ขึ้นมาประกอบการประมวลผลภายในชิป Loihi นี้ และนำเอาสารเคมีที่มีกลิ่นแรงให้ Loihi จดจำทีละกลิ่น ซึ่งผลการทดสอบการทำงานของมันก็ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจเพราะเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกแบบอื่นนั้นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนกว่า 3,000 ครั้งจึงจะได้ผลลัพท์ในระดับเดียวกัน โดย ณ ขณะนี้ Loihi สามารถแยกแยะกลิ่นของ Acetone (สารเคมีตัวทำละลาย), Ammonia (แอมโมเนีย), Methane (มีเทน) และสารเคมีอัตรายที่มีกลิ่นแรงชนิดอื่นๆ ได้ราว 10 ชนิด
ภาพจาก : https://engnews24h.com/an-intel-chip-can-smell-10-dangerous-chemicals-technology-news/
Nabil Imam หัวหน้านักวิจัยในทีม Neuromorphic Computing ของบริษัท Intel ได้กล่าวว่าหากเราสามารถทำความเข้าใจกระบวนการและหลักการทำงานของสมองมนุษย์ได้แล้วนั้นอาจ สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการพัฒนาและออกแบบ AI ใหม่เลยก็เป็นได้
การทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองมนุษย์ว่ามันสามารถประมวลผลสิ่งที่ซับซ้อนเหล่านี้ (การดมและจำแนกแยกแยะกลิ่น) ได้อย่างไรนั้นถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและออกแบบกลไกการทำงานของเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนี่เป็นตัวอย่างของการวิจัยร่วมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก มันคือการร่วมมือกันของการวิจัยทางประสาทวิทยา (Nueroscience) และ AI (Artificial Intelligence)
ซึ่งทาง Intel มีความเชื่อมั่นว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สามารถสอนและ ฝึกฝน AI สามารถจำแนกและแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้นั้นน่าจะมีประโยชน์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ที่ช่วยในการตรวจหาระเบิด, อาวุธ, การรั่วของก๊าซ หรือแม้แต่การตรวจหายาเสพติดก็อาจมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |