เป็นที่รู้กันดีว่าคนเรานั้นหัวใจมี 4 ห้อง เต้นด้วยอัตราความเร็วประมาณ 72 ครั้งต่อนาที แต่ในช่วงเวลาเท่ากัน หัวใจของเจ้าตัว กราวน์ฮ็อก (Groundhog) เต้นเร็วกว่าเป็น 5 เท่า และที่น่าทึ่งคือ นกฮัมมิงเบิร์ด อัตราการเต้นหัวใจสูงถึง 1,260 ครั้งต่อนาทีในขณะที่มันกำลังบิน หัวใจของมนุษย์นั้นมีน้ำหนักประมาณ 300 กร้ม หัวใจยีราฟหนัก 12 กิโลกรัม เพื่อที่จะได้มีพลังเพียงพอที่จะสูบฉีดเลือดผ่านคอที่ยาวของมัน และต่อไปนี้เป็นรายชื่อของสัตว์โลกที่มีลักษณะพิเศษของหัวใจไม่เหมือนใคร
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงนก หัวใจมี 4 ห้อง แต่หัวใจของกบนั้นมีเพียง 3 ห้องเท่านั้น โดยมีหัวใจห้องบน (Atria) จำนวน 2 ห้อง และหัวใจห้องล่าง (Ventricle) จำนวน 1 ห้อง
โดยปกติแล้ว หัวใจทำหน้ารับเลือดที่โดนดูดซับออกซิเจนไปแล้วโดยอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพื่อส่งกลับไปเติมออกซิเจนที่ปอด และสูบฉีดเลือดที่ได้รับการเติมออกซิเจนแล้ว กลับไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยหัวใจ 4 ห้องของคนเรานั้นจะแยกเก็บเลือดที่มี และไม่มีออกซิเจนอยู่ในแต่ละห้องแยกจากกัน แต่หัวใจ 3 ห้องของกบจะมีร่องพิเศษที่เรียกว่า Trabecular ที่ทำหน้าที่แยกเก็บเลือดที่มี และไม่มีออกซิเจน ให้อยู่ในห้องหัวใจเดียวกันได้
วาฬมีหัวใจที่ขนาดใหญ่เท่ารถคันเล็กๆ และหัวใจหนักประมาณ 430 กก. และวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ที่มีขนาดของหัวใจใหญ่ที่สุดในโลก และหัวใจมันมี 4 ห้องเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป และอวัยวะที่มีขนาดใหญ่โตนี้ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายของสัตว์ที่มีขนาดตัวเท่ารถบัส 2 คัน ผนังหลอดเลือดแดงของมันมีความหนาเท่ากับความยาวของเครื่อง iPhone 6 Plus เลยทีเดียว (ประมาณ 15.8 ซม.)
สัตว์ในตระกูล Cephalopods อย่างเช่น ปลาหมึกยักษ์ (Octopus), ปลาหมึก (Squid และ Cuttlefish) นั้นมีหัวใจถึง 3 ดวง
หัวใจ 2 ดวง ที่แยกกันอยู่บนทั้ง 2 ฝั่งของร่างกาย ทำหน้าที่เติมออกซิเจนเข้าไปในกระแสเลือด โดยการสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนผ่านเหงือก ส่วนหัวใจอีกดวงที่อยู่ตรงกลางของร่างกาย ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่ได้รับการเติมออกซิเจนโดยปอดแล้ว กลับไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
เรื่องที่น่าสนใจคือ สัตว์ในตระกูล Cephalopods เลือดจะมีสีน้ำเงิน เนื่องจากมีทองแดงอยู่ในกระแสเลือด ในขณะที่เลือดของคนเรานั้นมีสีแดงเนื่องจากมีธาตุเหล็กอยู่ใน ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)
เหมือนเช่นแมลงอื่นๆ แมลงสาบ มีรูปแบบการไหลเวียนโลหิตที่ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยที่เลือดไม่ได้ไหลผ่านหลอดเลือด แต่เลือดจะไหลผ่านโครงสร้างของ 12-13 ห้องหัวใจ
โดยอวัยวะที่มีชื่อว่า Dorsal sinus ทำหน้าที่ส่งเลือดที่ได้รับการเติมออกซิเจนแล้ว กลับไปยังแต่ละห้องหัวใจ แต่หัวใจของแมลงสาบ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากแมลงสาบและแมลงอื่นๆ สามารถหายใจผ่าน ช่องหายใจ (Spiracles) ที่อยู่บนผิวหนัง ไม่ได้หายใจด้วยปอด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เลือดในการลำเลียงออกซิเจน
เรื่องที่น่าสนใจคือ แมลงสาบสายพันธุ์ที่ไม่มีปีกนั้น หัวใจจะมีขนาดเล็กกว่าแมลงสาบที่มีปีกและบินได้ และอัตราการเต้นหัวใจของเจ้าแมลงสาบก็อยู่ในระดับเดียวกับมนุษย์เลย
ไส้เดือน เป็นสัตว์ที่ไร้หัวใจอย่างแท้จริง โดยที่มันมีหัวใจแบบปลอมๆ (Pseudohearts) อยู่ 5 ดวง ที่ห่อหุ้มหลอดเลือด และหัวใจปลอมๆ นี้ไม่ได้ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดแต่อย่างใด แต่มันจะทำหน้าที่บีบเพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือด
และมันไม่มีปอด แต่จะดูดซับออกซิเจนผ่านทางผิวหนังที่เปียกชื้นของมัน
ถ้า ปลาม้าลาย (Zebrafish) เกิดทำหัวใจแตกสลายขึ้นมา มันสามารถสร้างหัวใจขึ้นมาใหม่ได้อีก โดยผลงานวิจัยในปี 2002 เปิดเผยว่า ปลาม้าลายสามารถสร้างกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมาใหม่ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน หลังจากที่กล้ามเนื้อหัวใจ 20% ถูกทำลายไป
ในขณะที่มนุษย์ สามารถฟื้นฟูตับของตัวเองได้ ส่วนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และจิ้งจกสามารถงอกหางออกมาได้ใหม่ แต่ปลาม้าลาย นั้นก็ยังเจ๋งกว่า เพราะควาสามารถในการสร้างหัวใจขึ้นมาได้ใหม่นั้น ทำให้เป็นประโยชน์ที่จะศึกษาการเจริญเติบโตของหัวใจ และปลามีเพียง 2 ห้องหัวใจเท่านั้น
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |