ช่วงปลายปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จีนนาม He Jiankui ได้ประกาศข่าวฉาวว่า ทารกแฝดที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ได้รับการคลอดออกมาจากครรภ์มารดาอย่างปลอดภัย โดยเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของตัวอ่อนมนุษย์ ที่ฝ่ายพ่อของเด็กติดเชื้อโรคเอดส์ HIV โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เครื่องมือตัดต่อพันธุกรรมที่มีชื่อว่า CRISPR เพื่อลบลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง
แต่ในตอนนี้มีความเคลื่อนไหวใหม่ที่น่าสนใจ เมื่อนักวิจัยเชื่อว่า ทารกแฝดหญิงที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม และได้รับการคลอดออกมาจากครรภ์มารดาอย่างปลอดภัยนั้น อาจจะเกิดผลข้างเคียงอย่างสำคัญกับสมองของเด็ก จากความเป็นไปได้ที่มีการลบยีนที่มีชื่อว่า CCR5 ออกไป อาจทำให้เด็กแฝดมีความฉลาดมากกว่าปกติ แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าสมมติฐานนี้จะเป็นความจริงหรือไม่
การรายงานจากสื่อ MIT Technology Review ระบุว่า ทารกแฝดหญิงที่มีชื่อว่า Lulu และ Nana ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม ที่มีการลบยีน CCR5 ออกไปในตอนที่ยังเป็นตัวอ่อน และยีนตัวนี้ทำหน้าที่ยับยั้งการเรียนรู้ของสมอง และการสังเกตผลในโลกแห่งความจริงนั้นก็ชี้ชัดว่า การที่ไม่มียีน CCR5 นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความฉลาดในห้องเรียน
โดยที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการดัดแปลงพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ ไม่ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนว่า เขาตั้งใจจะดัดแปลงเพื่อให้เด็กมีความฉลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงไม่ได้ชี้แจงว่า เขามีความเชื่อว่ายีน CCR5 ส่งผลกับความฉลาดของมนุษย์ และข่าวคราวล่าสุดที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีข่าวอื้อฉาวรายนี้คือ เขาถูกจับกุมตัวโดยหน่วยงานรัฐของประเทศจีน และกำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินโทษ
และในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าทารกแฝดหญิงที่เพิ่งลืมตามาดูโลกเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว จะมีความฉลาดเป็นพิเศษจริงหรือไม่ โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่า ต้องรอจนกว่าแฝดหญิงโตกว่านี้จึงจะสามารถชี้วัดได้อย่างชัดเจน
และนี้ก็เป็นเหตุผลที่ดี ที่ว่าทำไมชุมชนของนักวิทยาศาสตร์ในสาขาพันธุศาสตร์ จึงต่อต้านการดัดแปลงพันธุกรรมมนุษย์ เพราะมันมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้นั่นเอง
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |