"โลกต้องร่วมมือกันคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ Climate change" คือคำยืนยันอย่างหนักแน่นจาก นักวิทยาศาสตร์การเมือง อย่างคุณ Joshua S. Goldstein และวิศวกรด้านพลังงานอย่างคุณ Staffan A. Qvist โดยสื่อ The Wall Street Journal ได้เผยแพร่บทความที่ทั้งสองแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า พวกเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกได้เร็วเท่าที่ควร และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมก็ยังไม่เพียงพอ
และเรามีทางเลือกที่ดีกว่าในการรับมือกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก และในความคิดเห็นของเขาทั้งสองนั้น เสนอว่าการใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้มากขึ้น จะเป็นทางออกให้กับปัญหานี้ได้
และถึงแม้ว่าทุกประเทศทั่วโลกร่วมใจกันหันมาใช้พลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตามอย่างเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้นำในเรื่องนี้ เราก็จะประสบความสำเร็จเพียงระดับ 1 ใน 5 ของเป้าหมายที่วางไว้ ในการที่ให้โลกทั้งใบได้เปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก
และถ้าทุกประเทศหันมาจริงจังกับการเปลี่ยนไปผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ในระดับเดียวกับเยอรมนี ก็ยังคงต้องใช้เวลานานถึง 150 ปีในการที่ทำให้โลกปลอดจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก คาดการณ์ว่า เหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 30 ปี โลกของเราจะไปถึงจุดที่สภาพแวดล้อมย่ำแย่เกินจะเยียวยา เพราะฉะนั้นการที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหาถึง 150 ปีนั้นยาวนานเกินไป เราไม่สามารถรอนานขนาดนั้นได้
และถึงแม้ว่าเราจะเร่งเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอัตราที่เร็วขึ้น ก็ไม่มีหลักประกันที่ยืนยันว่า ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะตอบสนองความต้องการของเมืองขนาดใหญ่ได้อย่างพอเพียง
โดยทั้งคุณ Joshua และ Staffan เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "สิ่งที่โลกต้องการอย่างแท้จริงคือ แหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน และสามารถขยายตัวในสเกลระดับใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และมีเสถียรภาพที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร และไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างโรงพลิตไฟฟ้า และ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นตัวเลือกที่ตอบทุกความต้องการ"
เมือง Pripyat ที่ถูกทิ้งร้างหลังจากเหตุโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด จะเห็นโรงไฟฟ้าเชียร์โนบีลอยู่ไกลๆ
ขอบคุณภาพประกอบจาก Wikipedia
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะสิ่งที่ขวางกั้นการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คือ ผู้คนมักจะคิดถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดกับโรงไฟฟ้าเชียร์โนบีล (Chernobyl) ที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 เมษายน 1986 ที่ทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี และยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่อง กากนิวเคลียร์ อีกด้วย (Radioactive waste)
แต่เมื่อมองในความเป็นจริง จำนวนผู้เสียชีวิตจากการภัยพิบัติเชียร์โนบีล (ซึ่งเป็นอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 60 ปี) นั้นมีจำนวนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับนิวเคลียร์
และปริมาณขยะ (หรือกาก) ที่เกิดจากการพลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ นั้นก็มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณขยะพิษ ที่เป็นผลพวงจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการใช้เชื้อเพลิงแบบอื่น
โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งสอง อ้างว่า "การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของอเมริกา ยังทำให้เกิดขยะพิษที่มีขนาดเล็กมากๆ ถึงขนาดใส่ไว้ในกระป๋องโซดาได้"
และท้ายที่สุด พวกเขาทั้งสองเสนอว่า ทุกประเทศในโลกควรหันมาสนใจโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยลดผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก จากการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |