ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ พลังการประมวลผลอันมหาศาลของ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ถูกจำกัดขอบเขตอยู่เพียงการใช้งานในห้องแล็ปเท่านั้น
และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา IBM ได้เปิดตัว IBM Q System One ซึ่งเป็นควอนตัมคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก ที่ออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจ และชัดเจนแล้วว่ามันคือก้าวแรกในการทลายขีดจำกัดเดิมๆ ของขุมพลังการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เปรียบเหมือนเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าของโลกอนาคต ที่สามารถใช้งานได้จริงแล้วในตอนนี้ นั้นเพราะว่ามันสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว เปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไปโดยสิ้นเชิง
พลังการประมวลผลของ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ได้หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านงานบุกเบิกอวกาศ พัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร คำนวณความเสี่ยงในการลงทุน หรือบางทีอาจนำไปใช้ในการหาหนทางรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายอื่นๆ ได้ด้วย
โดยคุณ Ginni Rometty ดำรงตำแหน่ง CEO ของ IBM กล่าวเอาไว้บนเวทีในงานเปิดตัว IBM Q System One ว่า "ข้อมูล เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของโลก"
แต่สำหรับองค์กรธุรกิจไหนที่อยากจะซื้อควอนตัมคอมพิวเตอร์มาตั้งใช้งานในออฟฟิศก็คงต้องผิดหวัง เพราะถึงแม้ว่าทาง IBM จะเปิดโอกาสให้องค์ธุรกิจสามารถจ่ายเงินเพื่อใช้งานควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ก็จริงอยู่ แต่จะเป็นการเข้าใช้พลังการประมวลผลของมันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตคลาวด์ที่มีชื่อว่า IBM Cloud
คอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้เก็บข้อมูลในรูปแบบ ไบนารี่ (Binary) เลขฐานสอง ซึ่งแต่ละบิตของข้อมูลจะเก็บเป็นเลข 1 หรือ 0 โดยที่เราสามารถนำเลขฐานสองรายหลายๆ หลักมาเรียงรวมกันเพื่อถอดรหัสเป็นตัวเลข หรือตัวอักษรได้ แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นแตกต่างออกไป และทำให้มันมีพลังการประมวลผลที่มากมายมหาศาล
โดยการเก็บข้อมูลของควอนตัมคอมพิวเตอร์ นั้นอยู่ในรูปแบบของ คิวบิต (Qubit) ซึ่งแต่ละคิวบิตนั้นมีคุณสมบัติพิเศษ ตรงที่สามารถมีสภาวะของความเป็น 1 หรือ 0 ได้ในขณะเดียวกัน ทำให้สามารถประมวลผลได้เร็วกว่ามากในเวลาที่เท่ากัน รองรับงานประมวลผลที่ต้องมีการสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อนได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยยาชนิดใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการสร้างการเข้ารหัสที่ซับซ้อนจนไม่มีใครสามารถเจาะได้
โดย IBM Q System One ติดตั้งอยู่ในเคสกระจกที่มีความสูง 9 ฟุต กว้าง 9 ฟุต เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมปิดทึบ อากาศไม่สามารถไหลเข้าไปในระบบได้ โดยหน้าตาของเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่เท่ล้ำนำสมัยนี้ เป็นความพยายามแรกของ IBM ที่พยายามจะนำพลังการประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์ไปสู่ธุรกิจ และเคสนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจาก Qubit จะสูญเสียความสามารถในการประมวลผล หากไม่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมที่ดีพอ โดยมันต้องทำงานในสภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และต้องปราศจากการสั่นไหว และปราศจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
ระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์สำหรับธุรกิจของ IBM นี่พยายามเอาชนะความท้าทายเพื่อให้สักวันหนึ่ง มันสามารถนำไปติดตั้งในบริษัทของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทำให้ต้องมีการติดตั้งในเคสที่มีการควบคุมสภาพภายในเคสเอาไว้อย่างดี แต่ในตอนนี้เคสยังมีความเปราะบางเกินกว่าที่จะนำไปติดตั้งในสำนักงานใดๆ ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะเพื่อที่ IBM จะก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไปได้ และในตอนนี้ลูกค้ายังคงต้องใช้งานควอนตัมคอมพิวเตอร์ผ่านระบบคลาวด์ไปก่อน
คุณ Arvind Krishna รองประธานอาวุโสฝ่าย Hybrid Cloud และผู้อำนวยการของศูนย์วิจัย IBM กล่าวว่า "IBM Q System One เป็นก้าวย่างที่สำคัญในการนำพลังการประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์ไปสู่ธุรกิจ และระบบใหม่นี้จะนำควอนตัมคอมพิวเตอร์ออกไปจากขอบเขตการใช้งานนอกห้องแลป และเราทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างรูปแบบการประยุกต์ใช้งานสำหรับธุรกิจ และงานด้านวิทยาศาสตร์"
และภายในปีนี้ IBM จะเปิดศูนย์ IBM Q Quantum Computation Center แห่งแรกเพื่อรองรับลูกค้าองค์กรธุรกิจในเมือง Poughkeepsie รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยลูกค้าจะสามารถเข้าใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ผ่านระบบคลาวด์ รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงอื่นๆ
และ IBM ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่ทุ่มเทพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ แต่อย่างไรก็ดี ยังคงอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากการนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง โดยที่ทาง Google เองก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ กับความก้าวหน้าในการอัพเกรดเสถียรภาพ และแก้ไขข้อผิดพลาดในการประมวลผล โดยพวกเขาได้ทำการทดสอบหน่วยประมวลผล Qubit เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้
ไมโครซอฟท์ก็ทุ่มเทอย่างหนักกับการสร้าง ควอนตัมคอมพิวเตอร์แบบไฮบริดจ์ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างควอนตัมคอมพิวเตอร์ กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ Intel ก็ยังเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญในการสร้างสรรค์ชิปคอมพิวเตอร์แบบควอนตัมด้วย
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |