เรดาร์ เป็นอุปกรณ์ทางการทหารที่ทรงพลัง เพราะมันสามารถตรวจจับเครื่องบินของข้าศึกที่อยู่ไกลออกไปเกินระยะสายตาได้เลย หลักการทำงานคือการส่งคลื่นความถี่วิทยุออกไป และถ้าคลื่นนี้ไปกระทบกับเครื่องบินบนท้องฟ้า มันก็จะสะท้อนคลื่นกลับมายังตัวรับ ทำให้รับรู้ตำแหน่งของเครื่องบินนั้นได้ แต่ก็มีเครื่องบินทางการทหารที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งเครื่องบิน Stealth หรือ เครื่องบินล่องหน นี้จะสามารถหลบเร้นตัวเองจากการตรวจจับด้วยเรดาร์ ด้วยการใช้รูปทรงและเหลี่ยมมุมของตัวเครื่องเพื่อหักเหสัญญาณเรดาร์ออกไปในทิศทางอื่น ไม่ให้คลื่นสะท้อนกลับไปยังตัวรับ หรือไม่ก็ใช้วัสดุที่สามารถดูดซับคลื่นเรดาร์ มาผลิตเป็นตัวลำเครื่องบิน
หลักการทำงานของเรดาร์ปกติ ต้องมีการสะท้อนคลื่นกลับมาถึงจะตรวจจับได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก National Air and Space Museum
แต่จากข่าวล่าสุดจากเมืองจีน ดูเหมือนว่าเครื่องบิน Stealth จะไม่สามารถรอดพ้นจากการตรวจจับด้วยเรดาร์ได้อีกต่อไป โดยในงานแสดงเทคโนโลยีด้านอากาศยาน หรืองาน Air show ที่จัดขึ้นในเมือง Zhuhai หน่วยงานด้านการป้องกันประเทศของจีนได้จัดแสดงเทคโนโลยีที่มีการเคลมว่าเป็น Quantum radar (ควอนตัมเรดาร์) ที่สามารถตรวจจับอากาศยานที่ใช้เทคโนโลยีล่องหนได้เลย งานนี้อาจทำให้กองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา หรือชาติใดๆ ที่ครองความได้เปรียบเหนือน่านฟ้าด้วยเทคโนโลยีล่องหน ต้องมีร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างหล่ะ โดยทางหน่วยงานที่รับผิดชอบการสร้างควอนตัมเรดาร์ ออกมาให้ข้อมูลว่า ได้ซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีนี้มานานหลายปีแล้ว และได้ทดสอบครั้งแรกในปี 2015
โดยหลักการแล้ว ควอนตัมเรดาร์ นั้นมีความคล้ายกับระบบเรดาร์ตรวจจับอากาศยานในปัจจุบัน แต่แทนที่มันจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไป ควอนตัมเรดาร์ จะทำการปล่อยอนุภาคแสงโฟตอนที่มี ความพัวพันทางควอนตัม (Quantum entanglement) แยกออกเป็น 2 ลำแสง โดยลำแสงหนึ่งจะถูกส่งขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อตรวจจับเครื่องบิน และลำแสงอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำมาตรวจสอบ ด้วยความที่ลำแสงทั้งสองส่วนนั้นมี ความพัวพันทางควอนตัม ถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับลำแสงโฟตอนที่ถูกส่งออกไป (เนื่องจากไปส่องโดนเครื่องบิน) ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับลำแสงส่วนที่สองในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถตรวจจับเครื่องบินได้โดยไม่ต้องมีการสะท้อนคลื่นกลับมาที่เครื่องรับแต่อย่างใด
เครื่องต้นแบบของควอนตัมเรดาร์
ขอบคุณภาพประกอบจาก Aviation Week
และจากข้อมูลในโบรชัวร์ของ China Electronics Technology Group Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องระบบควอนตัมเรดาร์ และเป็นบริษัทในการกำกับดูแลของหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศของจีน ได้ให้รายละเอียดว่า "มันช่วยแก้ปัญหาในการตรวจจับเป้าหมายที่ระบบเรดาร์ปกติไม่สามารถตรวจจับได้ และระบบเรดาร์แบบใหม่นี้ยังรอดพ้นจากการโจมตีในสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นการโจมตีฐานเราดาร์ของข้าศึกอีกด้วย"
แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าระบบควอนตัมเรดาร์ของจีนนั้นใช้งานได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการโกหกคำโตของจีน โดยศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์จาก University of Surrey ประเทศอังกฤษ แสดงความคิดเห็นกับสื่อ New Scientist ว่า "ตราบใดที่ยังไม่มีการสาธิตให้เห็นถึงการทำงานเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้ เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า นี่มันคือเรื่องจริงหรือเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงที่ซับซ้อน"
และถ้า ควอนตัมเรดาร์ ของจีน เกิดเป็นอะไรที่ใช้งานได้จริงขึ้นมา บอกเลยว่ามันจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ในเทคโนโลยีอากาศยานเพื่อการรบอย่างแท้จริง
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |