การเดินทางสู่อวกาศนับเป็นสิ่งที่อันตรายอยู่แล้วด้วยเหตุผลที่หลากหลาย อย่างเช่น ความเสี่ยงจากการปล่อยตัวจรวด และล่าสุดนี้ได้มีการศึกษาจาก NASA ที่พบว่า อวกาศนั้นมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยน DNA ของบุคคล
โดยการศึกษาในครั้งนี้ใช้ นักบินอวกาศ Scott Kelly และพี่น้องฝาแฝดของเขา Mark เป็นเสมือนหนูทดลอง เพื่อดูว่าการไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศจะมีผลต่อสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สุดของชีวิตอย่างไร
Scott Kelly ได้ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 342 วัน นี่เป็นโอกาสอันดีที่ NASA ไม่เคยมีมาก่อน ในการจะศึกษาว่าการเดินทางสู่อวกาศในระยะยาวจะมีผลต่อร่างกายมนุษย์และยีนส์ที่เป็นสิ่งระบุตัวตนของคนเราอย่างไรบ้าง เนื่องจาก Scott มีพี่น้องฝาแฝดที่เป็นนักบินอวกาศที่เกษียณแล้ว และยังคงอาศัยอยู่บนโลก
Telomere กระเปาะหุ้มปลายโครโมโซม คือส่วนที่เป็นสีดำในภาพ
ขอบคุณภาพประกอบจาก suay4ever.files.wordpress.com
เมื่อ Scott กลับมาสู่โลกก็พบว่า DNA ของเขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ Telomere ของเขามีความยาวมากขึ้นในอวกาศ และ Telomere เหล่านั้น ส่วนใหญ่จะกลับมาหดสั้นลงภายในสองวันนับจากที่เขากลับมาสู่โลก
***Telomere หรือ เทโลเมียร์ เป็นกระเปาะหุ้มปลายของโครโมโซม ซึ่งจะสั้นลงเรื่อยๆ ตามจำนวนการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายเพื่อสร้างการเจริญเติบโต ทำให้โดยปกติแล้ว เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น Telomere จะหดสั้นลง ทำให้ระบบการทำงานในร่างกายเสื่อมถอย
หมายความว่า ยีนส์ส่วนใหญ่ของเขากลับมาสู่ภาวะปกติในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด โดยนักวิจัยกล่าวว่ามี Telomere 7% โดยประมาณที่ไม่กลับเป็นเหมือนเดิมเป็นเวลานับ 2 ปี หลังจากที่เขากลับสู่พื้นโลก
กรณีศึกษาดังกล่าวเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ภารกิจที่นักบินอวกาศจะต้องประจำการอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งจะกินเวลาถึง 3 ปี และนับเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดที่มนุษย์ทุกคนจะอยู่ห่างจากโลก ร่างกายมนุษย์สามารถจัดการกับการเดินทางได้หรือไม่? คือคำถามที่่่่่ยังไม่มีใครตอบได้
|