เราอาจจะได้นั่งเครื่องบินโดยสารไร้คนขับไม่วันใดก็วันหนึ่งในอนาคต และจากผลการวิจัยล่าสุดของ Swiss bank UBS ระบุว่า ผู้คนโดยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะนั่งเครื่องบินโดยสารที่ไม่มีคนขับ...
ในการวิจัยครั้งนี้ มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 8,000 คน และจำนวนเกินกว่าครึ่ง ตอบว่าไม่ปรารถนาที่จะโดยสารไปกับเครื่องบินที่ไม่มีคนขับ ถึงแม้ว่าเที่ยวบินแบบไร้คนขับนี้จะมีค่าตั๋วถูกกว่าปกติก็ตาม และมีคนเพียง 17% เท่านั้น ที่ยินดีจะโดยสารไปกับเครื่องบินที่ไม่มีลูกเรือ แต่อัตราส่วน % ของผู้ที่มีความยินดีจะเพิ่มเป็น 27% ทันที เมื่อจำกัดกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุอยู่ในช่วง 18-24 และขยับเพิ่มเป็น 31% เมื่อขยับช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างไปที่ 25-34 ปี
อย่างไรก็ดี การยอมรับเที่ยวบินแบบไร้คนขับมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส เป็น 2 ประเทศที่คนไม่ชอบที่จะโดยสารบนเครื่องบินไร้คนขับเอาซะเลย (มีผู้ยินดีเพียง 13%) ในขณะที่ผู้คนในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะชอบในเรื่องนี้มากกว่า (มีผู้ยินดี 27%)
นักวิจัยกล่าวว่า เครื่องบินโดยสารแบบไร้คนขับ จะช่วยให้สายการบินประหยัดงบไปได้ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 997,500 ล้านบาท) ซึ่งต้นทุนที่หายไปตรงนี้ สามารถนำไปชดเชยกับการที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น และยังทำให้สายการบินสามารถเลือกเส้นการบินที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วย แถมยังลดต้นทุนในการอบรมนักบิน และนักวิจัยเชื่อว่าผลประโยชน์นี้จะกลับไปหาผู้โดยสาร ในรูปแบบของราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง (โดยตั้งสมมติฐานว่า จะไม่มีต้นทุนใดๆ ที่บวกเพิ่มของเที่ยวบินแบบไร้คนขับ และสายการบินก็ใจกว้างพอที่จะลดค่าตั๋วลงตามต้นทุนจริง) โดยคาดว่าผู้โดยสารเครื่องบินในประเทศแถบยุโรป จะได้สัมผัสกับค่าตั๋วที่ถูกลงประมาณ 4% หากเลือกโดยสารเครื่องบินไร้คนขับ และสำหรับในสหรัฐอเมริกา คาดว่าค่าตั๋วจะลดลงถึง 11% เลยทีเดียว
Sagitta เครื่องบินแบบไร้คนขับ
โดยทีมวิจัย คาดหวังว่า เทคโนโลยีเครื่องบินโดยสารไร้คนขับ จะทำให้การเดินทางปลอดภัยขึ้น และเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ โดยในเวลานี้ ระบบเครื่องบินไร้คนขับยังอยู่ในช่วงของการทดสอบ และการวางแนวคิด โดยที่บริษัท Lilium Aviation ได้ทำการทดสอบเครื่องบินต้นแบบขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง ใช้งานเครื่องยนต์ไฟฟ้าเต็มระบบ และสามารถบินขึ้นลงในแนวดิ่ง และการทดสอบก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ส่วนทางฝั่งของบริษัท Urban Aeronautics จากเมือง Tel Aviv ประเทศอิสราเอล ได้วางแผนที่จะสร้างเครื่องบินขนาด 4 ที่นั่ง ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนภายใต้ชื่อ Flying car และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการสร้างในปี 2022 ในส่วนของบริษัท Airbus Defence and Space เพิ่งประสบความสำเร็จกับการทดสอบเครื่องบินแบบไร้คนขับรุ่น Sagitta โดยมันทำการบินแบบไร้ผู้ควบคุมเป็นเวลา 7 นาที ผ่านเส้นทางที่ได้กำหนดไว้เหนือเขต Overberg ในแอฟริกาใต้
โดยมีคาดการณ์ว่า บริการรับส่งผู้โดยสารจำนวนน้อยในระยะใกล้ (Air taxi) และเที่ยวบินขนส่งสินค้า เป็นบริการรูปแบบแรกๆ ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเครื่องบินไร้คนขับ ตามมาด้วยเครื่องบินเจ็ทสำหรับนักธุรกิจ และเฮลิคอปเตอร์ และเมื่อผู้คนในช่วงอายุ 18-34 ในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างจะมีความคิดแง่บวกกับเครื่องบินไร้คนขับ) เริ่มมีอายุมากขึ้น และเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า ก็ถึงเวลาแล้วที่เที่ยวบินพาณิชย์จะให้บริการผู้คนด้วยเครื่องบินโดยสารไร้คนขับ
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |