ช่วงนี้ประเด็นร้อนที่มาแรงที่สุด ในบ้านเราคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ "น้ำท่วม" หรือ "อุทกภัย" หนึ่งในภัยธรรมชาติยอดฮิตของประเทศไทยเราทุกปี แต่ปี 54 นี้ดันกลายเป็นปีที่หนักที่สุด อ่วมที่สุด ในรอบหลายสิบปี ชนิดที่เรียกว่า ข่าวทวิตเตอร์ของนายกฯ โดนแฮค หรือ ประเด็นร้อนของโลกอย่างเรื่อง สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทชื่อดังของโลกอย่าง แอปเปิล เสียชีวิต จางหายจากบ้านเราภายในไม่กี่วัน
แนวคิด แอปพลิเคชัน เกิดจากประสบการณ์ตรง ของผู้พัฒนา
ประเด็นร้อนเรื่องน้ำท่วม กลับมาเป็นประเด็นที่พูดคุยกันมาก ในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งกว่า 90% เปลี่ยนมาเป็นการพูดคุย การแบ่งปัน ทั้งข้อมูล อัพโหลดรูปภาพ การทวีต เรื่องของ น้ำท่วม เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าหากเราได้ใช้มันก็จะพบว่า มีทั้งข่าวลือ ข่าวจริง สลับสับเปลี่ยนกันออกมามากมาย บางทีข่าวที่เราได้รับ เป็นข่าวจริงก็จริงอยู่ แต่ด้วยความคลาดเคลื่อนของเวลา อาจทำให้ ข้อมูลที่เราได้รับนั้นอาจ "บิดเบือนโดยไม่ได้ตั้งใจ" ก็เป็นได้
คำว่า "บิดเบือนโดยไม่ได้ตั้งใจ" คำนี้ถูกกล่าวโดย อาจารย์รวิทัต ภู่หลำ (@rawitat) อาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร ที่ปัจจุบันได้เปิด บริษัท โค้ด แอปพ์ จำกัด (Code App Co., Ltd.) (https://www.code-app.com) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 54 ที่ผ่านมา เป็นบริษัทที่รับพัฒนา แอปพลิเคชัน (แอป) บนมือถือเฉพาะค่ายสมาร์ทโฟนอย่าง ไอโฟน (iPhone) ที่ใช้กับระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้น
โดยอาจารย์ได้ให้ความหมายของคำๆ นี้ว่า ข้อมูลที่ขึ้น กับสถานที่และเวลามากๆ เปลี่ยนนิดเดียว ก็จะถูกบิดเบือนไปเอง ด้วยธรรมชาติของมัน จึงทำให้ข้อมูลที่ได้มาไม่เกิดประโยชน์ทั้งผู้ส่งและผู้รับ เช่นเราได้รับข้อมูลจาก ทวีตเตอร์ (Twitter) ว่าน้ำท่วมบนถนนรามคำแหง แต่หารู้ไม่ว่าถนนรามคำแหงมีความยาวทั้งสิ้นเกือบ 20 กิโลเมตร จึงทำให้ไม่สามารถรู้ถึงพิกัด ที่แน่นอน และชัดเจน
นอกจากนี้การได้รับข้อความว่า "มีน้ำท่วมขัง รถติดมาก ที่แยกเกษตร" โดยพอเราไปถึงสถานที่นั้นจริงๆ ปรากฏว่า น้ำไม่ท่วมขัง รถไม่ติด เพราะสืบเนื่องมาจาก ระยะเวลาที่เราได้รับข้อความ กับระยะเวลาที่เราไปพบเห็นจริงๆ นั้น "ต่างกัน" ซึ่งเหตุนี้เกิดขึ้นจริงกับอาจารย์เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ อาจารย์เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะพัฒนา แอป ตัวนึงขึ้นมาใช้เอง เพื่อทวีตบอก เหล่าบรรดาผู้ติดตาม (Follower) ของเขาที่มีอยู่มากกว่า 2 พันคน โดยต้องการที่จะเพิ่มข้อมูล "วัน-เวลา" เข้าไปในข้อความของทวีตเตอร์ด้วย เนื่องการใช้ทวีตเตอร์ หากข้อความนั้นมีการ Retweet หรือส่งต่ออกไป เป็นจำนวนมากๆ หลายๆ คน วัน-เวลา ที่ได้รับก็จะคลาดเคลื่อนออกไปอยู่ดี อีกสาเหตุหนึ่งคือ บางคนมีความต้องการ อยากรายงานมากๆ แต่ไม่รู้จักสถานที่ตรงนั้นว่ามันคือที่ไหนกันแน่ เพราะไม่คุ้นเคยเส้นทาง บวกกับ ขี้เกียจพิมพ์ข้อความยาวๆ ขณะขับรถ ก็เป็นสาเหตุ หรือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของแอปตัวนี้
Thai Flood Reporter 1.0 จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการอยากเป็น "ผู้ให้"
ด้วยความที่เป็น ผู้พัฒนาแอปบนไอโฟน อยู่แล้ว หลังจากที่เห็นปัญหาดังกล่าวจึงคิดพัฒนาแอป บนไอโพนขึ้นมาใช้เองภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่อาจารย์คิดว่าไหนๆ เราก็ทำใช้เอง ก็ควรที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบ้าง ก็พัฒนาต่อยอดออกไปอีกในวันเดียวกันโดยใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง โดยนำขึ้น App Store เพื่อทำการรับรอง (Approve) ภายใต้ชื่อ "Thai Flood Reporter" เวอร์ชัน 1.0
หลังจากนั้น 1 วัน แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกรับรองให้เผยแพร่ให้แจกจ่ายดาวน์โหลดอย่างรวดเร็ว โดยความสามารถ ของแอปตัวนี้คือ คุณสามารถทำตัวเป็น "ผู้ให้" หรือนักข่าวภาคสนามรายงานน้ำท่วมได้เลย เพียงแค่กดๆ แล้วก็กด โดยไม่ต้องพิมพ์ข้อความให้เสียเวลา ซึ่งเหมาะมากในเวลาขับรถ หรือเวลาเร่งด่วนต่างๆ ที่ผู้ต้องการรายงานไม่สะดวกกดโทรศัพท์พิมพ์ข้อความ
โดยแอปตัวนี้จะมีข้อความสำเร็จรูปอาทิเช่น "ขณะนี้น้ำท่วม / น้ำท่วม แต่เริ่มลดแล้ว / น้ำท่วมถึงเข่า / น้ำท่วมถนนใหญ่ / น้ำท่วมถึงอก และอื่นๆ อีกมากมาย" เอาไว้ให้ผู้รายงานเลือก แล้วสามารถแจ้งพิกัดตรวจสอบผ่าน GPS ได้เลย โดยไม่ต้องพิมพ์ โดยตัวแอปจะเรียบเรียงคำพูดออกมาให้เสร็จสรรพ พร้อมส่งข้อความรายงานออกไป ผ่าน Twitter ส่วนตัวของคุณ หรือ SMS รายงานน้ำท่วมของทางภาครัฐได้ทันที
[16 ต.ค. 16:55 น.] รามคำแหง 24 วังทองหลาง วังทองหลาง กรุงเทพ (พิกัด : xx.xxx, yyy.yyy) "ขณะนี้น้ำท่วม" #ThaiFlood
หลังหลังจากที่แอปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปพบว่า ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง (1 วัน) มียอดดาวน์โหลดไปใช้งาน มากกว่า 1 หมื่นครั้ง จนมาถึงวันนี้ ขณะที่เขียนบทความอยู่ แอปตัวนี้มียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 4 หมื่นครั้ง !! (ภายใน 1 สัปดาห์) มีการอัพเดทเวอร์ชันทั้งหมด 4 เวอร์ชันด้วยกัน ซึ่งการอัพเดทดังกล่าวเกิดขึ้นจาก การนำเอาเสียงตอบรับ จากผู้ใช้งานจริง มาปรับปรุงแก้ไข และ พัฒนาต่อ
THAI FLOOD REPORTER : VIEW แอปเล็กๆ ช่วยคนเป็นล้าน
นอกจากนี้แล้วอาจารย์ยังได้พัฒนาแอปอีกตัวชื่อว่า "Thai Flood Maps and Updates" อันนี้จะสวมบทบาทเป็น "ผู้รับ" ข้อมูล ซึ่งจะเป็นตัวดึงข้อมูลน้ำท่วม ที่ผู้คนไปพบเจอมา และ รายงานออกมาจากแอป "Thai Flood Reporter" ที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยจะแสดงข้อมูลรายงานล่าสุด 75 อัพเดท บนหน้าจอไอโฟนของผู้ใช้งาน
เรื่องของอนาคต
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทั้งสอง ทำให้อาจารย์กล่าวว่า แผนพัฒนาต่อยอดของแอปตัวนี้คือ จะนำมารวมกันเป็นแอปเดียว (จะได้ไม่ต้องโหลดแยกกัน 2 ตัว) และพอน้ำท่วมหมดไปแล้ว จะนำคอนเซป หรือแนวคิด มาพัฒนาแอป รายงานภัยหนาว ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราอีกเร็ววันนี้ นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดไปได้ถึง การรายงานจราจร อาชญากรรม ฯลฯ แต่ตอนนี้ขอมุ่งเน้นไปเป็นเรื่องๆ ก่อน เนื่องจากข้อมูลจะสามารถจำกัดวงแคบ และควบคมุได้ง่ายกว่า
ถือว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีคนไทยใจบุญ พัฒนาซอฟต์แวร์ดีๆ ออกมาเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ในท่ามกลางสภาวะวิกฤติขั้นรุนแรงแบบนี้ ในของส่วนโมเดลการหารายจาก บริษัท โค้ด แอปพ์ นั้นอาจารย์บอกว่า แอปส่วนใหญ่ที่พัฒนาออกมาจากบริษัท เป็น Paid App ในราคาไม่เกิน $0.99 (ประมาณ 30 บาท) ส่วนที่ฟรี อาจมีโฆษณาในระบบ iADS ฝังอยู่ ซึ่งในอนาคตต่อให้แอป ThaiFlood ตัวนี้ต้องเก็บเงินจริงๆ เป็นผม ผมก็ซื้อ แค่ 30 บาท ได้ข้อมูล ได้รายงาน สุดท้าย ได้บุญ อีกต่างหาก ครับ ....
บทความโดย :
ธรรณพ สมประสงค์ (นิ้ง)
Thanop Somprasong (Ning)
Twitter : @thanop