ช่องโหว่จุดหนึ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามไป นั่นคือช่องโหว่ที่อยู่บนอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเราเตอร์ที่เป็นอุปกรณ์ตัวกลางระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ และโลกอินเทอร์เน็ต
จากรายงานโดยเว็บไซต์ Cyber Security News ได้รายงานถึงการตรวจพบช่องโหว่ความปลอดภัยบนเราเตอร์ Asus ที่ใช้เฟิร์มแวร์รุ่น 3.0.0.4_386, 3.0.0.4_388, และ 3.0.0.6_102 โดยช่องโหว่ดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า CVE-2024-12912 และ CVE-2024-13062 ซึ่งช่องโหว่ทั้ง 2 มีรายละเอียดต่อไปนี้
เป็นช่องโหว่ที่อยู่ในส่วน AiCloud ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันตัวหนึ่งของ Asus ที่ติดมากับเราเตอร์บางรุ่น ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่เกิดจากความผิดพลาดในการที่ระบบยอมรับข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง หรือไม่เป็นอันตราย (Improper Input Insertion) ทำให้แฮกเกอร์สามารถนำมาใช้ในการยิงโค้ดที่เป็นอันตรายสู่ตัวระบบผ่านทาง AiCloud ได้
เป็นช่องโหว่ในรูปแบบที่ชุดคำสั่งเริ่มต้น (Entry Point) ถูกรันขึ้นมาอย่างไม่เป็นไปตามที่ผู้ใช้งานตั้งใจไว้ (Unintended Entry Point Vulnerability) ทำให้แฮกเกอร์สามารถนำมาใช้ในการยิงโค้ดที่เป็นอันตรายสู่ตัวระบบได้
สำหรับการแก้ไขนั้นเรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ผู้ใช้งานทำการอัปเดตเฟิร์มแวร์ของเราเตอร์จากรุ่นที่ระบุไว้ข้างต้นขึ้นเป็นรุ่นล่าสุด นอกจากนั้นแหล่งข่าวยังได้แนะนำอีกว่า ผู้ใช้งานควรตั้งรหัสผ่านในส่วนของการเข้าตั้งค่าเราเตอร์ให้มีความแข็งแกร่ง เดารหัสยาก และถ้าผู้ใช้งานไม่สามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้เนื่องมาจากใช้งานเราเตอร์ในสายผลิตภัณฑ์ที่เลิกผลิตไปแล้ว ทางแหล่งข่าวแนะนำให้ตั้งรหัสผ่านการเข้าใช้งาน Wi-Fi ให้แข็งแกร่ง และทำการปิดการเข้าใช้งานส่วนการตั้งค่าเราเตอร์จากอินเทอร์เน็ตภายนอก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ช่องโหว่มาแฮกลงไปได้
|