ข่าวที่ใหญ่มากในช่วงปีที่ผ่านมาคือ การที่รัฐบาลออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้งานโซเชียลมีเดียโดยสิ้นเชิง อันนำมาซึ่งเสียงต่อต้าน และสนับสนุนมากมายภายในประเทศ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
จากรายงานโดยเว็บไซต์ AA ได้รายงานถึงความเคลื่อนไหวของประเทศต่าง ๆ ต่อนโยบายการควบคุมการเข้าถึงโซเซียลมีเดียของเยาวชน หลังจากที่ออสเตรเลียได้ออกกฎหมายในระดับเด็ดขาดตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งแต่ละประเทศนั้นก็มีการตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
หลังจากที่ทางออสเตรเลียได้ออกกฎหมายจำกัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชนขึ้นมา ทางฝ่ายค้านในรัฐสภานิวซีแลนด์ก็ได้ออกมาทำการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้ออกกฎหมายไปในทิศทางเดียวกัน โดยทางฝั่งนายกรัฐมนตรี Christopher Luxon ก็ได้ออกมาทำการเคลื่อนไหวแต่เพียงกล่าวว่า จะคอยติดตามสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด
ถึงกระนั้น ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์เองก็ยังไม่ได้มีแผนหรือให้คำมั่นอย่างชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด หรือ จะมีการออกกฎหมายตามประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ในเวลานี้
ทางรัฐมนตรีสาธารณสุขแห่งประเทศอินโดนีเซียออกมากล่าวว่า ทางรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นมีความสนใจในการที่จะดำเนินการออกกฎหมายในทิศทางเดียวกับทางประเทศออสเตรเลีย แต่ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลามากกว่า 3 ปี ทั้งในด้านการออกกฎหมาย และในทางการบังคับใช้
ทางรัฐบาลมาเลเซียถึงจะยังไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าวของทางประเทศออสเตรเลีย แต่ก็ได้มีความเคลื่อนไหวในการบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทุกรายนั้น จะต้องทำการขอใบอนุญาตจากหน่วยงาน Malaysian Communications and Multimedia Commission (MCMC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การควบคุมของรัฐบาลมาเลเซียเสียก่อน โดยกฎหมายดังกล่าวนั้นได้เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีนี้ ซึ่งถ้าบริษัทใดฝ่าฝืน ทางหน่วยงานควบคุมจะทำการลงโทษตามที่กฎหมายใหม่ได้กำหนดไว้ในทันที
ประเทศอินเดียถึงแม้จะยังไม่มีกฎหมายควบคุมอายุผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเฉกเช่นกับประเทศออสเตรเลียก็ตาม แต่ด้วยกฎหมายคุ้มกันข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2566 (2023 Digital Personal Data Protection Act) ก็มีการบังคับโดยอ้อมว่า ผู้ใช้งานที่เป็นเยาวชนจะต้องยื่นเอกสารว่าผู้ปกครองอนุญาตแล้ว ทางฝั่งผู้ให้บริการถึงจะสามารถดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลได้ แต่ถึงกระนั้น กฎหมายนี้ก็ไม่ได้จำกัดอายุผู้ใช้งานเหมือนแบบในออสเตรเลียแต่อย่างใด
สำหรับทางรัฐบาลอินเดียในขณะนี้ การควบคุมโซเชียลมีเดียจะยังไม่มุ่งเน้นไปในด้านการจำกัดอายุ แต่จะเน้นไปในทางการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ บนโซเชียลมีเดียก่อนเป็นอันดับแรก
ถึงแม้ในขณะนี้จะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชน แต่ทางรัฐบาลเกาหลีใต้นั้นก็ให้ความสนใจอย่างมากที่จะออกกฎหมายดังกล่าว โดยได้เพ่งเล็งไว้ว่า อาจจะควบคุมผู้ใช้งานตั้งแต่อายุ 16 ปีลงไปตามออสเตรเลีย หรืออาจจะต่ำถึงระดับอายุ 14 ปีลงไปเลยทีเดียว โดยประเด็นดังกล่าวนั้นอยู่ระหว่างทำการศึกษา
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นยังไม่ได้มีการมุ่งเน้นไปที่การจำกัดอายุผู้ใช้งาน แต่ได้มุ่งเน้นไปในทางการควบคุมข้อมูลบิดเบือนที่เผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะโพสต์หมิ่นประมาทต่าง ๆ ที่โจมตีไปยังปัจเจกบุคคล และ องค์กรต่าง ๆ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ทางรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการทำงานของโซเชียลมีเดียว่า ต้องมีขั้นตอนการทำงานที่โปร่งใส รวดเร็ว ในการลบโพสต์หมิ่นประมาทต่าง ๆ ออกจากระบบ โดยทางผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียนั้น จะต้องเปิดช่องทางติดต่อโดยเฉพาะเพื่อรับคำร้องในการลบโพสต์ต่าง ๆ ตามที่ผู้เสียหายต้องการ
ทางรัฐบาลสิงคโปร์นั้นมุ่งเน้นไปในทางการบล็อกคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายมากกว่าในด้านการควบคุมอายุผู้ใช้งานแบบรัฐบาลออสเตรเลีย โดยได้มีการออกกฎหมายควบคุมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ว่าโซเชียลมีเดียจะต้องควบคุมคอนเทนต์อันตรายตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งถ้าบริษัทไหนละเมิดข้อบังคับดังกล่าว ทางหน่วยงาน Infocomm Media Development Authority (IMDA) ของรัฐบาลสิงคโปร์ จะทำการประสานงานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อบล็อกการเข้าถึงคอนเทนต์ดังกล่าว
ในช่วงก่อนการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่นั้น ทางรัฐบาลบังกลาเทศที่ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายควบคุมโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ แต่ก็ได้มีการกล่าวหาผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ว่า ทำการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการควบคุมข้อมูลบิดเบือน และคอนเทนต์สร้างความรุนแรง
นำไปสู่การบล็อกโซเชียลมีเดียจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Instagram, TikTok, WhatsApp, และ YouTube ซึ่งนอกจากการบล็อกการเข้าถึงดังกล่าวจะมาจากข้อกล่าวหาที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมาจากการที่โซเขียลมีเดียถูกกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลนำไปใช้ในการปลุกระดมอีกด้วย
ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากที่รัฐบาลดังกล่าวถูกโค่นล้มลง การแบนโซเชียลมีเดียก็ได้ถูกยกเลิกไปในทันที
|