การมาของ Microsoft Copilot นั้น นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นในยุค AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนั้นจะเป็นการนำเอา AI เข้ามาช่วยเหลือผู้ใช้งานในการทำงานต่าง ๆ ในรูปแบบเฉพาะทางให้ง่ายยิ่งขึ้น แต่กลับมีฟีเจอร์หนึ่งที่ได้ตกเป็นข่าวดังในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นั่นคือ Windows Recall ซึ่งได้ถูกถอดออกไประยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ก็ได้ถูกปรับปรุง และกลับมาให้ใช้งานกันใหม่แล้ว
จากรายงานโดยเว็บไซต์ The Verge ได้รายงานถึงการกลับมาอีกครั้งของฟีเจอร์การบันทึกภาพหน้าจอเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานย้อนความจำเพื่อค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่อง เช่น ไฟล์, แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ต่าง ๆ อย่าง Windows Recall ได้กลับมาให้ใช้งานอีกครั้งหลังจากที่ถูกติติงด้านความปลอดภัยในการใช้งานจากหลากหลายหน่วยงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการถูกเก็บหน้าจออย่างไม่เต็มใจจากผู้ใช้งานเนื่องจากการใช้งานที่ถูกตั้งค่าให้เป็นแบบทำงานตั้งแต่เริ่มต้น (Default)
ซึ่งการกลับมาครั้งนี้นั้น ทางรองประธานจากไมโครซอฟท์ คุณ David Weston ก็ได้ออกมากล่าวถึงการกลับมาของฟีเจอร์นี้อย่างภาคภูมิใจว่า “ทางเรามีความตื่นเต้นมากถึงเสียงตอบรับจากทางชุมชนด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ถึงความพยายามของเราในการประกอบสถาปัตยกรรมด้านความปลอดภัยตัวใหม่ลงไปในฟีเจอร์นี้ ฟีเจอร์นี้ต่อไปจะไม่เป็นแบบเปิดใช้งานตั้งแต่เริ่มต้น (Default) อีกต่อไปแล้ว ผู้ใช้งานนั้นจะต้องทำการสมัครเข้าใช้งานเสียก่อน (Opt-in) เพราะทางเราให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ไม่ต้องการใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวอย่างมาก”
นอกจากนั้นแล้ว หลังข่าวยังรายงานอีกว่า ด้วยการปรับปรุงครั้งล่าสุดนี้ ผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการใช้งานอีกแล้วก็สามารถถอนติดตั้งฟีเจอร์ Windows Recall ได้โดยง่าย เนื่องจากมีปุ่มให้ผู้ใช้งานถอนการติดตั้งฟีเจอร์นี้ให้กดได้เลยจากบน แอปพลิเคชัน Copilot Plus ซึ่งนอกจากจะเป็นการถอนฟีเจอร์ออกแล้ว ทางไมโครซอฟท์ยังเสริมความมั่นใจอีกว่า ตัวถอนการติดตั้งไม่เพียงแต่ถอนตัวฟีเจอร์ แต่ยังถอนติดตั้ง AI ส่วนที่เกี่ยวข้างออกไปด้วย ทำให้ฟีเจอร์นี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างแน่นอนหลังถอนการติดตั้งไปแล้ว
ภาพจาก : https://www.theverge.com/2024/9/27/24255721/microsoft-windows-recall-ai-security-improvements-overhaul-uninstall
ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากที่ทางไมโครซอฟท์ได้รับการติติงในช่วงที่ผ่านมาถึงความไม่ปลอดภัยของตัวไฟล์บันทึกหน้าจอ (Screenshot) เนื่องมาจากไฟล์ไม่ถูกเข้ารหัส (Encryption) ทางไมโครซอฟท์ก็ได้ทำการเพิ่มส่วนของเทคโนโลยีการเข้ารหัสเข้ามา โดยเป็นการผูกกับเครื่องมือการเข้ารหัสที่มีอยู่แล้วบน Windows 11 ที่มีชื่อว่า Trusted Platform Module หรือ TPM ซึ่งทำให้ผู้ที่จะเข้าถึงได้นั้นจะต้องทำการยืนยันตัวตนผ่านทาง Windows Hello โดยการสแกนใบหน้า, สแกนนิ้วมือ. หรือใส่ PIN เสียก่อน นอกจากนั้นทางไมโครซอฟท์ยังระบุอีกว่า การรันของฟีเจอร์ดังกล่าวนั้น ยังเป็นการรันในส่วนที่ปกป้องตัวฟีเจอร์จากการถูกโจมตีโดยมัลแวร์อีกด้วย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลให้แน่นหนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง
ภาพจาก : https://www.theverge.com/2024/9/27/24255721/microsoft-windows-recall-ai-security-improvements-overhaul-uninstall
เพื่อเสริมความมั่นใจ ทางไมโครซอฟท์ยังได้ทำการตรวจสอบ (Review) การทำงานและความปลอดภัยของฟีเจอร์ดังกล่าวโดยทีม The Microsoft Offensive Research Security Engineering (MORSE) อย่างเข้มงวดเป็นเวลานานหลายเดือนก่อนที่จะทำการปล่อยฟีเจอร์นี้มาให้ใช้งานอีกครั้ง ภายใต้โครงการ Secure Future Initiative (SFI) ของทางบริษัทอีกด้วย
|