ระบบ Bittorrent ซึ่งเป็นการรับส่งไฟล์แบบเครื่องต่อเครื่อง (Peer-to-Peer หรือ P2P) นั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่ถึงผู้ใช้จะระมัดระวังตัวไฟล์แค่ไหน ก็อาจติดมัลแวร์ได้โดยไม่รู้ตัว จากรายงานโดยเว็บไซต์ Tom’s Hardware มีการเปิดเผยว่า JTBC สำนักข่าวดังในประเทศเกาหลีใต้ กำลังเริ่มสืบสวนหาความจริง หลังจากมีรายงานอย่างหนาหูว่า บริษัท KT ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) รายใหญ่ ได้ “จงใจ” ปล่อยมัลแวร์ใส่ผู้ใช้บริการที่มีการใช้งาน Bittorrent มากกว่า 6 แสนราย
โดยเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาหลังจากที่ทาง Webhard ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Cloud Service ภายในประเทศเกาหลีใต้ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการเรื่อง Errors ระหว่างการใช้งาน ที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งหลังจากการตรวจสอบก็ได้มีการพบสิ่งที่น่าตกใจคือ ระบบ Grid Program ที่ทำงานโดยอิงระบบการแชร์ไฟล์แบบ P2P บน Bittorent ได้ถูกแฮกอย่างลึกลับ เมื่อทำการตรวจสอบลึกลงได้ ก็ได้ผลสรุปว่า ผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบจากการแฮกครั้งนี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ที่ใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ตของบริษัท KT โดยมัลแวร์ดังกล่าวนั้น จะทำการเข้าสู่ระบบของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าดังกล่าว แล้วทำการสร้างโฟลเดอร์แปลก ๆ หรือ ทำการซ่อนไฟล์ไม่ให้สามารถมองเห็นได้ นอกจากนั้นแล้วมัลแวร์ตัวดังกล่าวยังทำการปิดซอฟต์แวร์ของ Webhard ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ Bittorrent และ ในบางครั้งตัวมัลแวร์ยังสามารถทำการปิดเครื่องของเหยื่อเองได้อีกด้วย
หลังจากนั้นทางกรมตำรวจแห่งประเทศเกาหลีใต้ได้ทำการรับไม้ต่อในการสืบสวน และได้ค้นพบสิ่งที่ทำให้หลายคนต้องประหลาดใจคือ ต้นสายปลายเหตุนั้นมาจากส่วน Data Center ของทางบริษัท KT เอง ซึ่งทาง KT ได้ออกมากล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ทาง ISP เองที่เป็นผู้ปล่อยมัลแวร์ใส่ลูกค้าที่ใช้บริการของ Webhard โดยให้สาเหตุว่า “ทางเราไม่มีทางเลือกอย่างอื่นแล้ว นอกจากต้องใช้วิธีนี้ในการควบคุมการใช้งาน Bittorrent”
ซึ่งที่ผ่านมานั้น ทาง KT ได้มีปัญหาข้อขัดแย้งกับทาง Webhard มาอย่างยาวนานแล้วด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า ระบบ Grid Program ของทาง Webhard ที่ใช้งานระบบ Bittorrent อย่างหนักนั้น ทำให้เครือข่ายของทาง KT มีการสัญจรหนาแน่นในระดับที่สร้างภาระให้กับทางบริษัท และเมื่อสืบย้อนกลับไปก็พบว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเคยมีการฟ้องร้องกันมาแล้ว และทาง KT นั้นเป็นผู้ชนะและได้รับอนุญาตให้ทาง KT นั้นปิดกั้นการใช้งานระบบจากทาง Webhard ได้ เนื่องจากทาง Webhard ไม่ได้มีการชำระค่าใช้บริการกับทาง KT เพื่อใช้งานการแชร์ไฟล์ P2P บนเครือข่ายของทางบริษัทแต่อย่างใด
แต่แทนที่ทาง KT จะทำการปิดกั้นหมายเลข IP ตามปกติ กลับใช้การสกัดกั้นผ่านทางมัลแวร์แทน และนั่นก็ได้นำมาสู่ปัญหา เพราะเป็นการติดตั้งมัลแวร์ลงเครื่องของลูกค้าโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต จนทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นได้ถูกสืบย้อนไปจนพบว่าได้มีการกระทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา จนทางกรมตำรวจกล่าวหาว่า ทาง KT นั้นได้ละเมิดกฎหมายด้านการสื่อสาร นำไปสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้องกว่า 13 ราย ตั้งแต่พนักงานของทาง KT และพนักงานสัญญาจ้าง โดยปัจจุบันนั้นคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด
โดยเรื่องนี้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่แสดงให้เห็นถึงว่า แม้แต่ตัวผู้ให้บริการอินเตอร์ก็อาจจะไม่มีความน่าไว้วางใจ และอาจพร้อมละเมิดกฎหมายเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับลูกค้าก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดและจัดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง เกาหลีใต้ ดังนั้น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนขอให้มีความระแวดระวัง สอดส่องสิ่งที่ผิดปกติทุกครั้ง และร่วมมือกันเป็นเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง ป้องกันสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ดันกล่าว
|