ประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายใหม่ ต้องการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการผลิตชิป โดยทางญี่ปุ่นได้มีความพยายามในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากบริษัทชิปจากทางไต้หวันที่ได้ขยายฐานการผลิตมาที่ญี่ปุ่น ซึ่งการขยายฐานการผลิตในครั้งนี้นั้นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้ผลิตเจ้าใหญ่อย่างบริษัท TSMC แต่ยังช่วยในการสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมนี้ของญี่ปุ่นในภาพรวมด้วย
การจับคู่พันธมิตรทางการค้า และการผลิตในครั้งนี้นั้น เป็นผลโดยตรงมาจากการเมืองระหว่างประเทศ จากการที่ทางสหรัฐอเมริกาพยายามขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ด้วยการสนับสนุนความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรโดยตรงให้มากยิ่งขึ้น
ภาพจาก https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-11-10/japan-ministry-aims-for-13-billion-in-support-for-chip-sector
Alchip บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบชิปเซมิคอนดักเตอร์แบบเฉพาะทาง Application-specific integrated chips (ASICs) ก็เป็นอีกหนึ่งผู้นำเทรนด์ในการโยกย้ายอุตสาหกรรมไฮเทคออกจากจีน
โดยในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ผ่านมานั้น จีนผู้เป็นฐานการค้นคว้า และพัฒนาชิป โดยมีวิศวกรด้านนี้ทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่บริษัท Alchip กลับเริ่มทำการโยกย้ายผู้ที่ทำงานในหน้าที่นี้ไปสู่ฐานการผลิตอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น โดยทางตัวแทนบริษัทนั้นได้กล่าวว่า มีการจ้างงานบุคลากรในตำแหน่งนี้จากญี่ปุ่น, ไต้หวัน และทวีปอเมริกาเหนือมากขึ้น แต่ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นนี้
“พวกเรามีความตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้เห็นการเติบโตของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศญี่ปุ่น โดยทางเราได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการร่วมพัฒนาชิป ASICs กับทางญี่ปุ่น และพร้อมจะใช้โอกาสนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดในอนาคต” ผู้จัดการทั่วไปจาก Alchip สาขาญี่ปุ่น คุณ ฮิโรยูกิ ฟุรุโซะโนะ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้
จากรายงานของรอยเตอร์ บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์มากกว่า 9 บริษัท จากไต้หวันได้ทำการขยายกิจการ และฐานการผลิตไปยังญี่ปุ่นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น บริษัทด้านการออกแบบชิป eMemory Technology ได้ทำการเปิดสำนักงานที่เมืองโยโกฮาม่า พร้อมพนักงาน 11 คน ซึ่งเป็นอดีตลูกจ้างของบริษัทญี่ปุ่นขนาดยักษ์ที่เคยครองพื้นที่ในอุตสาหกรรมนี้มาแต่เดิม
“หลังทางเราได้ก่อตั้งสำนักงานในญี่ปุ่นแล้ว ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยสื่อสารกับลูกค้าของเรามากยิ่งขึ้น และพวกเขาก็มีความยินดีที่จะสื่อสารกับพนักงานของเราซึ่งเป็นบุคลากรท้องถิ่นด้วยภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้พวกเรามีความมั่นใจในอนาคตที่สดใสของธุรกิจนี้” คุณไมเคิล โฮ ประธานบริหารจาก eMemory Technology ได้ให้สัมภาษณ์กับทางรอยเตอร์
นอกจากบริษัทที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ยังคงมีบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันจากไต้หวันจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วม หรือขยายกิจการเข้ามายังญี่ปุ่น โดยทางแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะออกนามนั้น ได้กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินเยนนั้นมีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจโยกย้ายและขยายฐานการผลิตในครั้งนี้
|