วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ภายในประเทศเนเธอร์แลนด์ หญิงชาวดัตช์คนหนึ่งได้ถูกศาลออกคำสั่งให้ลบภาพหลานแท้ๆ ของตัวเองออกจาก Facebook ส่วนตัวของเธอ หลังจากที่เธอได้โพสต์รูปไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแม่ของเด็ก (หรือลูกสาวของเธอฺเอง) ซึ่งถือเป็นการละเมิด กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือ General Data Protection Regulation (GDPR)
ตามรายงานระบุว่า หญิงชาวดัตช์คนนี้เป็นยายของเด็กที่ถูกโพสต์รูป โดยเธอได้แยกกันอยู่กับลูกสาว และหลาน ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นบุคคลภายนอกครอบครัว และการโพสต์ภาพส่วนบุคคล สามารถยกเว้นให้เผยแพร่ได้แค่ในครอบครัวเท่านั้น หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน ซึ่งการโพสต์ภาพดังกล่าว สร้างความไม่พอใจต่อแม่ของเด็กหรือลูกสาวของเธอเป็นอย่างมาก ทำให้ลูกของเธอร้องขอให้เธอ ลบภาพออกทันทีเพราะกลัวจะกระทบต่อตัวเด็ก แต่เธอไม่ยอมทำตาม จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
สุดท้ายในรายงานระบุว่า หญิงชาวดัตช์หรือคุณยายคนนี้ก็ถูกศาลออกคำสั่งให้ลบรูปของหลานตัวเองออกจาก Facebook ซึ่งถ้าเธอไม่ทำตามภายใน 10 วัน จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 50 ยูโรต่อวัน (หรือ 1,740 บาท) ตราบเท่าจำนวนวันที่รูปยังคงอยู่บน Facebook
"บน Facebook เมื่อโพสต์ภาพใดภาพหนึ่งลงไป ไม่มีทางที่ภาพเหล่านั้นจะไม่ตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่สาม ซึ่งการโพสต์ภาพเด็กลงในโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง อาจทำให้ผู้คนที่ไม่ประสงค์ดี มีโอกาสเข้าถึงตัวเด็กและก่อให้เกิดอันตรายได้ "
-คำกล่าวของศาลเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ 13 พ.ค. 2563 (ค.ศ.2020)
จากกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเริ่มจะเข้ามามีบทบาท และเป็นเรื่องที่จริงจังมากขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งไม่มีการยกเว้นแม้แต่คนใกล้ตัว โดยในประเทศไทยเองก็กำลังมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเช่นกัน เป็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) หรือ PDPA ที่หลายคนรู้จัก และจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) ซึ่งกฎหมายนี้ มีผลกระทบกับองค์กรทั่วไป และ มีผลกระทบกับบุคคลทั่วไป ด้วย ที่เราทุกคนควรต้องศึกษาเอาไว้
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |