มีการรายงานว่าพบเห็นยีราฟสีขาวแม่ลูกคู่หนึ่งในป่าทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเคนยาเมื่อปี 2016 และมีการพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2019 โดยพบว่าได้มีลูกยีราฟสีขาวล้วนอีกตัวหนึ่งเพิ่มขึ้นมา เท่ากับว่า ณ ตอนนั้น (ช่วงเดือนสิงหาคม 2019) ประเทศเคนยามียีราฟสีขาวจำนวนทั้งหมด 3 ตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก
แม้ว่ายีราฟทั้ง 3 ตัวนี้จะมีลำตัวเป็นสีขาวแต่พวกมันก็ ไม่ได้เป็นยีราฟเผือก (Albino) แต่อย่างใด เพราะหากเป็นยีราฟเผือกจะต้องมีดวงตาเป็นสีแดงหรือชมพูแทนที่จะเป็นสีเข้มเหมือนกับยีราฟปกติเนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างเมลานิน (Melanin) ที่เป็นเม็ดสีเข้มได้ แต่ยีราฟทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นยีราฟที่มีภาวะ Leucism ที่เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมในด้านการผลิตเม็ดสีบริเวณผิวหนัง ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกายอย่างดวงตาและขนบริเวณใบหูและหางยังมีสีเข้มเหมือนกับยีราฟทั่วไปตัวอื่นๆ
ยีราฟสีขาวที่พบเห็นภายในประเทศเคนยาเทียบกับยีราฟทั่วไป จะเห็นได้ว่าสีของดวงตา, สีขนที่ใบหูและหางนั้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่ใช่สีชมพูหรือแดงที่จะพบเห็นในสัตว์ที่มีภาวะผิวเผือก
ภาพจาก : https://www.dailymail.co.uk/news/article-3551978/High-whitey-Rare-albino-giraffe-no-markings-hide-spotted-grazing-Kenya.html
ล่าสุดทางศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติชุมชน Ishaqbini-Hirola (Ishaqbini-Hirola Community Conservancy) ในประเทศเคนยา ที่เป็นผู้รายงานการพบเห็นยีราฟสีขาวทั้ง 3 ตัวนี้ก็ได้ออกมาประกาศว่า 2 ใน 3 ของยีราฟสีขาวที่พบเห็นภายในศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาตินี้ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยฝีมือของนักลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยทางศูนย์ได้พบซากของยีราฟสีขาวเพศเมียพร้อมกับลูกยีราฟสีขาวอายุราว 7 เดือนที่ป่าแห่งหนึ่งใน Ijara ซึ่งทำให้ ณ ตอนนี้ในประเทศเคนยา หลงเหลือเพียงแค่ลูกยีราฟสีขาวตัวผู้เพียงตัวเดียวเท่านั้น และ Mohammed Ahmednoor ผู้ดูแลศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติชุมชน Ishaqbini-Hirola ก็ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับพวกเราทุกคนในเมือง Ijara และในประเทศเคนยา เราเป็นบุคคลกลุ่มเดียวที่ทำการคุ้มครองยีราฟสีขาวเหล่านี้ การที่พวกมันทั้งคู่ถูกล่านั้นทำให้จำนวนของสัตว์ป่าที่มีความพิเศษและหายากเหล่านี้ลดน้อยลงไปอีก มันเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าเราควรที่จะต้องหันมาจริงจังกับการกระทำของนักลักลอบค้าสัตว์เหล่านี้บ้างแล้ว
และทางศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติชุมชน Ishaqbini-Hirola ก็มีความ คาดหวังว่ายีราฟสีขาวตัวผู้ตัวสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ภายในศูนย์นี้จะมียีนส์เด่นมากเพียงพอ ที่จะส่งถ่ายไปยังลูกของมันได้ และหวังว่าเราจะได้มีโอกาสพบเห็นยีราฟสีขาวตัวอื่นๆ อีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยีราฟสีขาวสองตัวนี้ไม่ได้เป็นเหยื่อเพียงอย่างเดียวของนักลักลอบค้าสัตว์ป่า เพียงเท่านั้น เพราะสัตว์จำพวกแรด, ช้าง หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เองก็ถูกล่าเพื่อเอาอวัยวะบางอย่าง หรือถูกฆ่าเพื่อถลกหนังหรือตัดหัวไปขายในตลาดมืดด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://www.france24.com/en/20200224-nearly-50-rhinos-killed-in-botswana-in-10-months-as-poaching-surges
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |