ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ข่าวไอที
 

Home Vinyl Recorder เครื่องผลิตแผ่นเสียงไวนิลด้วยตนเองที่บ้าน

Home Vinyl Recorder เครื่องผลิตแผ่นเสียงไวนิลด้วยตนเองที่บ้าน

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 10,255
เขียนโดย :
0 Home+Vinyl+Recorder+%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ในยุคที่คนส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งอย่าง Spotify, Apple Music, Youtube วงการซีดีเพลงก็เหมือนได้ตายจากเราไปแล้ว เพราะนอกจากเราจะต้องเสียเงินให้กับค่าแผ่นซีดีที่ราคาค่อนข้างสูงแล้ว ซีดียังมีเพลงให้ฟังอย่างจำกัดอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน แผ่นเสียงไวนิลสุดคลาสสิคกลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ อาจเพราะลักษณะของมันที่ชวนให้บรรดาแฟนเพลงรู้สึกควรค่าแก่การสะสมมากกว่าซีดีธรรมดาๆ ที่ไม่มีความน่าสนใจสักเท่าไร และอาจเพราะเสียงเพลงจากแผ่นไวนิลที่ออกมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นให้ความรู้สึก “นุ่ม” มากกว่าเสียงจากลำโพงของเครื่องเล่นซีดีหรือการฟังเพลงจากสตรีมมิ่ง


แผ่นเสียงไวนิล (Vinyl Record) นั้นตั้งชื่อตามวัสดุที่ใช้ผลิต ซึ่งไวนิลถือเป็นพลาสติก PVC ประเภทหนึ่งที่นิยมนำเอามาทำเป็นแผ่นเสียงเนื่องจากน้ำหนักเบาและตกไม่แตกเหมือนกับแผ่นเสียงรุ่นเก่าที่ผลิตมาจากครั่ง (ยางที่ได้มาจากแมลง) และมีราคาถูกกว่าจึงได้รับความนิยมสูง

Home Vinyl Recorder เครื่องผลิตแผ่นเสียงไวนิลด้วยตนเองที่บ้าน

ภาพจาก : https://twitter.com/thiswildlife/status/1010885847317704706


บริษัท Phonocut ที่ผลิตแผ่นไวนิลมาตั้งแต่ปี 1889 ก็ได้ริเริ่มแนวคิดที่ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าหากคุณจะมีเครื่องผลิตแผ่นเสียงที่สามารถเลือกเพลงที่จะบันทึกลงไปในแผ่นเสียงได้ตามใจชอบด้วยตนเองได้!? และได้วางแผนจะปล่อยเครื่องผลิตแผ่นเสียง Home Vinyl Recorder (HVR) ออกมา

Home Vinyl Recorder เครื่องผลิตแผ่นเสียงไวนิลด้วยตนเองที่บ้าน

ภาพจาก : https://www.okayplayer.com/music/world-first-home-vinyl-record-cutting-machine-set-2020-release.html

โดยเครื่องนี้จะมีหน้าตาคล้ายกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเข็ม (ที่ปกติแล้วเอาไว้เล่นแผ่นเสียงไปตามร่องของแผ่น แต่สำหรับเครื่องตัวนี้มันเอาไว้ตัดแผ่นไวนิลเพื่อสร้างโน้ตเพลงในแผ่นเสียงนั่นเอง) และแผ่นไวนิลเปล่าขนาด 10 นิ้วอีก 5 แผ่น ที่คุณสามารถจะบันทึกเพลงลงไปได้ตามใจชอบ โดยแผ่นเปล่านี้มีราคาราว 10 ยูโร (ประมาณ 350 บาท) ต่อแผ่น วิธีการใช้ก็แค่วางแผ่นเสียงเปล่าลงบนจาน เชื่อมต่อเพลงผ่านเครื่องมือ (ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ หรือจะเป็นการเชื่อมต่อจากไมค์หรือเครื่องดนตรีโดยตรงก็สามารถทำได้เช่นกัน) ด้วยสายเสียงขนาด ⅛ กับตัวเครื่องและกดปุ่มเล่นเพลง จากนั้นตัวเครื่องก็จะทำงานโดยการหมุนวนเข็มตัดไปกับแผ่นเสียงเปล่าเพื่อบันทึกเสียงเพลงลงในแผ่นไวนิล ซึ่งแผ่นเปล่านี้สามารถบันทึกเพลงได้ยาว 15 นาทีต่อด้าน (สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ด้านของแผ่นเสียง)

วิดีโอสาธิตการทำงานของเครื่อง HVR

Florian Doc Kaps ที่เป็นผู้ร่วมริเริ่มโปรเจคนี้ได้กล่าวเอาไว้ว่า

ปัญหาของดนตรีแบบสตรีมมิ่งคือมันจับต้องไม่ได้ และโปรเจคนี้เราไม่ได้คิดขึ้นมาเล่นๆ แต่พวกเราอยากจะเปลี่ยนโลกและวงการดนตรีโดยการหยิบยื่นสิ่งใหม่ๆ ให้กับทุกคน แน่นอนว่ามันแทนที่สตรีมมิ่งไม่ได้หรอกแต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่อยากจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ในวงการดนตรีเพิ่มมากขึ้น”

วิดีโอเทียบเสียงระหว่างเสียงเพลงจาก Digital Record, แผ่นเสียงจากโรงงาน และแผ่นเสียงจากเครื่อง HVR

อย่างไรก็ตาม Phonocut ไม่ใช่บริษัทแรกที่คิดริเริ่มในการผลิตเครื่องสร้างแผ่นเสียงด้วยตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้บริษัท Machina.Pro เองได้วางจำหน่ายเครื่องผลิตแผ่นเสียงที่มีชื่อว่า Desktop Record Cutter (DRC) ไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ซึ่งเครื่อง DRC นี้มีราคาเปิดตัวสูงกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 600,000 กว่าบาท) ต่อเครื่อง ในขณะที่เครื่อง HVR ของ Phonocut นี้มีราคาเปิดตัวเริ่มต้นเพียง 999 ยูโร (ราว 34,000-35,000 บาท) เท่านั้น แต่เราก็คงจะต้องทำใจว่าสำหรับราคาที่เป็นมิตรขนาดนี้ คุณภาพของแผ่นเสียงที่บันทึกออกมานั้นก็น่าจะยังห่างไกลจากแผ่นเสียงที่ผลิตจากโรงงานอยู่มาก เพราะแผ่นเสียงจากโรงงานนั้นจะใช้เข็มตัดเพียงแค่แผ่นต้นแบบเท่านั้น ส่วนแผ่นอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นจะใช้วิธีการปั๊มแผ่น เพื่อให้ได้คุณภาพของเสียงที่เท่าเทียมกัน และถึงแม้ว่าแผ่นเสียงจากเครื่อง HVR จะดูเหมือนมีความคลาสสิคกว่าเพราะถือเป็นแผ่นต้นแบบที่ใช้เข็มตัดออกมาทุกแผ่น แต่มันก็อาจก่อให้เกิดฝุ่นและเศษของพลาสติกที่อาจบาดเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้เกิดความเสียหายได้หากเล่นเป็นประจำ และคุณภาพของเข็มตัดแผ่นก็อาจลดลงเรื่อยๆ ตามการใช้งาน

แต่ถึงแม้ว่าเครื่องนี้จะไม่ได้เพอร์เฟกต์ไปเสียหมด แต่สำหรับวงดนตรีมือสมัครเล่นที่ต้องการจะมีแผ่นเสียงเป็นของตัวเอง, คนที่ต้องการให้แผ่นเสียงให้เป็นของที่ระลึกในงานสำคัญต่างๆ หรือคนทั่วไปที่อยากลองมีมิกซ์ไวนิล (คล้ายกับมิกซ์เทป แต่เป็นแผ่นไวนิลแทน) ก็ดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


ที่มา : en.wikipedia.org , www.engadget.com , www.wired.com , phonocut.com


0 Home+Vinyl+Recorder+%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ข่าวไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น