การพิชิต ยอดเขาเอเวอเรสต์ นั้นไม่ต่างอะไรกับการตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง และในอดีต มีนักปีนเขาเพียงจำนวนจำกัดที่ฝันถึงการพิชิตมัน แต่ในเวลานี้เรื่องราวแตกต่างออกไป เพราะมีนักปีนเขานับร้อยชีวิตที่อยู่ในช่วงระดับความสูงต่างๆ ของเขาลูกนี้และไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อรอวันที่จะพิชิตมัน และมีนักปีนเขาจำนวนไม่น้อย ที่สามารถพิชิตยอดเอเวอเรสต์ เมื่อสภาพอากาศที่วิปริตแปรปรวนบนยอดเขาสูงเริ่มที่จะเอื้ออำนวย
แต่ในมุมหนึ่ง การที่มีนักปีนเขามารวมตัวเป็นจำนวนมาก ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักในการพิชิตยอดเขาสูง เพราะนอกจากจะต้องรอให้สภาพอากาศบนยอดเขาเอื้ออำนวยแก่การขึ้นไปแล้ว นักปีนเขาจำนวนมาก พบว่าตัวเองต้องรอคิวในกลุ่มผู้คนจำนวนมากเพื่อรอการพิชิตยอดเขา และความตายที่ในสภาพอากาศที่โหดร้าย รวมถึงระดับออกซิเจนที่บางเบาบนยอดเขาสูงก็เป็นอะไรที่ปกติมาก และผู้พิชิตยอดเอเวอเรสต์ทุกคนต้องยอมรับมัน โดยมีนักปีนเขารายหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอ และเขียนบรรยายร่ายยาวเอาไว้บนอินสตาแกรม ถึงสภาพความโหดร้ายที่ระดับความสูง ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากที่เขาได้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์
คุณ Robin Hayes นักปีนเขาที่ได้เขียนบรรยาย เรื่องการรอคิวของกลุ่มนักปีนเขาจำนวนมากที่รอขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์เอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน และเขาพิชิตมันได้สำเร็จในวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. แต่ก็ได้เสียชีวิตในที่สุด ขณะที่เขาปีนลงจากยอดเขาสูง โดยในเบื้องต้น มีการสันนิษฐานสาเหตุการตายของเขาไว้ว่าเป็นอาการของ Altitude sickness*
***Altitude sickness หรือ Acute Mountain Sickness (AMS) เป็นผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพเมื่อมนุษย์ต้องไปอยู่ในระดับความสูงมากๆ เป็นเวลานานๆ ด้วยความที่บนยอดเขาสูงมีระดับออกซิเจนบางเบา อาการป่วยคือ ปวดหัวรุนแรง อาเจียน เหนื่อยล้า มีปัญหากับการนอนหลับ และเวียนหัว
และต่อไปนี้คือโพสต์อินสตาแกรมของ Robin Hayes ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
เนื้อหาในโพสต์ของเขา บรรยายให้เห็นสภาพความยากลำบากบนระดับความสูงได้เป็นอย่างดี สภาพอากาศที่เลวร้าย อยู่ท่ามกลางนักปีนเขาอีก 100 ชีวิตที่ปรารถนาในสิ่งเดียวกัน ในขณะที่เส้นทางขึ้นสู่ยอดเขานั้นแคบมากๆ
คุณ Hayes เขียนบรรยายว่า เขาวางแผนที่จะต้องรอคอย 2-3 วัน เพื่อที่จะพิชิตยอดเอเวอเรสต์ในวันที่ 25 พ.ย. ด้วยความหวังที่ว่า ทีมนักปีนเขากลุ่มอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า จะลงจากยอดเขาไปเสียก่อน "อย่างไรก็ตาม ทุกๆ คนที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ล้วนอยู่ในเกมส์แห่งการรอคอย"
สภาพอากาศบนยอดเขาสูงแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาอย่างยากที่จะคาดเดา แต่การขึ้นสู่ยอดเขาก็เป็นความฝันสูงสุดที่ไม่อาจล้มเลิกได้ง่ายๆ และกลุ่มของนักปีนเขาจำนวนมากต้องรอคอยอยู่ที่ระดับความสูงใกล้ๆ ยอดเขาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการ Altitude sickness และเมื่อนักปีนเขาขึ้นสู่ระดับความสูงที่เรียกว่า เขตแห่งความตาย หรือ Death zone ที่ระดับความสูงเกิน 26,000 ฟุต เวลาก็นับถอยหลังไปสู่ความตาย และพวกเขาต้องรอให้สภาพอากาศบนยอดเขาเปิดโล่ง เพื่อที่จะพิชิตมัน หรือถ้ารอแล้วรอเล่าสภาพอากาศก็ยังไม่เปิด พวกเขาต้องกลับลงไปสู่ระดับความความสูงที่ปลอดภัยกว่า เพื่อรอเวลาที่จะขึ้นมาพิชิตมันอีกครั้ง ด้วยความที่ต้องรอคอยให้สภาพอากาศเป็นใจอย่างยากที่จะคาดเดา และไม่มีใครสามารถควบคุมได้ ทำให้นักปีนเขาจำนวนมากต้องเข้าคิวเพื่อรอจังหวะเหมาะ
และแค่เฉพาะในปีนี้ ก็มีนักปีนเขาสังเวยชีวิตให้กับเอเวอเรสต์ไปแล้ว 11 ราย
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |