นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก และเรียกมันว่า การสูญพันธุ์ขนาดใหญ่ครั้งที่ 6 หรือ Sixth mass extinction
เมื่อพูดถึงคำว่า Mass extinction หรือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ เหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลก ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์น้อยใหญ่ แต่อีกหนึ่งเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งรุนแรง (ถึงแม่ว่าจะไม่ค่อยชัดเจน) กำลังเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้!
และแนวโน้มการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้กำลังโจมตีสัตว์โลกในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้น การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ความรุนแรงของเหตุการณ์เหล่านี้รวมๆ กันทำให้ประชากรสัตว์โลกลดจำนวนลงอย่างมากมายมหาศาลจนสุดจะคาดเดา
และตอนนี้ก็มีรายงานที่ออกมาเพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องการลดลงของจำนวนประชากรสัตว์โลกเป็นจำนวนมากแล้ว
และเมื่อไม่กี่วันมานี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประกาศว่าจะเปิดเผยรายงานจากหน่วยงาน "แพลตฟอร์มนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับบริการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ" หรือ Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) ที่ประเมินสถานะของความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใบนี้
โดยรายงานนี้ เป็นผลการวิจัยตั้งแต่ปี 2005 ที่ประเมินว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใดบ้างที่ถูกคุกคามโดยการสูญพันธุ์ และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงว่ามีกี่สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว รวมถึงการตรวจสอบตัวชี้วัดอื่นๆ อย่างเช่น การเติบโตในจำนวนประชากรของบางสายพันธุ์ รวมถึงการเพิ่มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เอกสารความหนา 1,800 หน้า ซึ่งเป็นการรวบรวมงานวิจัยจากบทความวิชาการและสิ่งพิมพ์มากกว่า 15,000 เรื่อง สิ่งนี้เป็นความหวังว่า มันจะชี้ให้ผู้นำคนสำคัญของโลกได้ตระหนักถึงปัญหา และหาวิธีทางแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
โดยสื่อ AFP ได้รับเอกสารร่างของรายงานฉบับนี้ และสรุปออกมาคร่าวๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเลวร้ายกว่าสิ่งที่เราคิด
AFP เปิดเผยในเดือนเมษายนว่า "สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์นั้นมีอัตราการสูญเสียจำนวนประชากรที่รวดเร็วขึ้นเป็นอย่างมาก และรูปแบบสิ่งมีชีวิตจำนวนกว่าครึ่งล้าน หรือหนึ่งล้านสปีชีส์นั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และหลายๆ สปีชีส์จะสูญพันธุ์ภายในระยะเวลาอีกไม่ถึง 10 ปี"
อ้างอิงข้อมูลจากสื่อ AFP ในฉบับร่างของรายงาน มีการสรุปว่า 75% ของแผ่นดิน 40% ของมหาสมุทร และ 50% ของแม่น้ำ ได้รับผลกระทบทางสภาพแวดล้อมที่ร้ายแรงจากกิจกรรมของมนุษย์
และมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากอุตสาหกรรมด้านพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต และจากรถยนต์ และตั้งแต่ปี 1980 อัตราการปล่อยมลพิษของมนุษย์นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างน้อย 0.7 องศาเซลเซียส (ประมาณ 1 องศาฟาเรนไฮต์)
รายงานชิ้นหนึ่งในปี 2017 เปิดเผยว่า สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ การทำลายล้างทางชีวภาพ หรือ Biological annihilation และในตอนนี้ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ดำเนินไปไกลกว่าที่คิดไว้ และสายพันธุ์แมลงกว่า 40% ของโลกกำลังเผชิญกับสภาวะสูญพันธุ์ รายงานชิ้นหนึ่งในปี 2019 พบว่า จำนวนประชากรแมลงทั่วโลกลดจำนวนลง 2.5% ในแต่ละปี
และถ้าเราไม่สามารถควบคุมสถาณการณ์ได้ ในปี 2119 โลกของเราจะไร้แมลงโดยสิ้นเชิง!
และมีความเห็นพ้องต้องกันว่า กิจกรรมของมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้ อ้างอิงจากผลงานวิจัยในปี 2014 อัตราการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลกในปัจจุบันนั้นสูงขึ้นเป็น 1,000 เท่า เมื่อเทียบกับโลกในยุคที่มนุษย์ยังไม่ถือกำเนิด
และสื่อ AFP ระบุว่า "โลกของเราถูกทำลายโดยการบริโภคเกินขนาดของมนุษย์ และทุกสปีชีส์กำลังจมลงในสภาวะความเป็นมลพิษ"
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |