เพลงแนว Death Metal (เดทเมทัล) มีภาพลักษณ์และเนื้อเพลงที่เกี่ยวพันกับเรื่องความตายและความรุนแรง อย่างเช่นการทุบหัวกะโหลก การปาดคอ การชำแหละให้ร่างกายขาดวิ่น และความรุนแรงอีกนานัปการเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการถึง แต่จริงๆ แล้ว เดทเมทัล นั่นส่งผลอย่างไรกับคนที่ฟังเพลงแนวนี้เป็นประจำสม่ำเสมอ?
อ้างอิงจากผลงานวิจัยล่าสุดโดยนักจิตวิทยาจาก Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า เดทเมทัล ไม่ได้ทำให้คนที่ชอบฟังเพลงแนวนี้ เป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ถึงแม้เนื้อเพลงจะสื่อถึงเรื่องราวเหล่านี้แบบเต็มๆ ก็ตาม
โดยในการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 80 คน นักวิจัยต้องการตรวจสอบว่า แฟนเพลงแนว เดทเมทัล หรือ Heavy Metal (เฮฟวีเมทัล) นั้นจะมีการตอบสนองต่อความรุนแรงได้ง่ายกว่าคนทั่วไปหรือไม่? โดยนอกจากเพลงแนวเดทเมทัลแล้ว ก็ยังมีสื่ออื่นๆ อีกที่ตกเป็นจำเลยสังคมเรื่องการสั่งสมความรุนแรงอย่างเช่น วิดีโอเกมส์ และหนังแอคชั่น
โดยทีมวิจัยกล่าวว่า "มีแนวคิดที่ว่า การเสพสื่อที่มีความรุนแรงเป็นระยะเวลายาวนาน จะทำให้เป็นคนที่เฉยชาต่อเรื่องความรุนแรง แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่า การฟังเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงนั้น จะส่งผลกระทบกับภาวะของสมองที่เกี่ยวกับเรื่องการประมวลผลภาพความรุนแรงหรือไม่"
เพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ นักวิจัยได้ใช้เทคนิคที่มีชื่อว่า การแข่งขันระหว่างสองตา (Binocular rivalry) เพื่อทดสอบภาวะการประมวลที่เกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ภาพ โดยเป็นการแสดง 2 ภาพที่แตกต่างกัน โดยภาพหนึ่งแสดงให้ตาซ้ายได้เห็น และอีกภาพหนึ่งแสดงให้ตาขวาได้เห็น ในเวลาเดียวกัน
เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ภาพที่เห็นในตาข้างหนึ่ง จะสร้างอิทธิพลเหนือภาพที่เห็นในตาอีกข้างหนึ่ง ซึ่งการทดสอบรูปแบบนี้เป็นเครื่องมือทรงพลังในการชี้วัด อคติในการประมวลผลของสมอง (Subcortical processing bias)
ในงานวิจัยระบุว่า "การตรวจสอบระยะเวลาที่ใช้ในการที่ภาพหนึ่ง มีอิทธิผลเหนืออีกภาพหนึ่ง ทำให้เราระบุได้ว่า สมองของเรามีความใส่ใจกับภาพที่มีเนื้อหาในทำนองไหนมากกว่ากัน"
โดยในการทดลอง ทีมงานได้ขอความร่วมมือจากอาสาสมัคร 32 รายที่เป็นแฟนเพลงแนวเดทเมทัล และอาสาสมัครอีก 48 ราย ไม่ได้ฟังเดทเมทัล เข้าร่วมการทดสอบ Binocular rivalry โดยที่มีการแสดงภาพที่แตกต่างกัน ให้กับตาทั้งสองข้าง โดยที่ตาข้างหนึ่งจะได้รับการแสดงภาพที่มีเนื้อหารุนแรง ส่วนตาอีกข้างได้รับการแสดงภาพที่มีเนื้อหากลางๆ โดยในระหว่างที่ดูภาพ ก็มีการเปิดเพลงให้ฟังด้วย
นอกจากภาพที่มีเนื้อหาแตกต่างกันแบบสุดขั้วแล้ว เพลงที่เหล่าอาสาสมัครได้ฟังก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ซึ่งก็มีเพลง "Happy" ของศิลปิน Pharrell Williams ที่เป็นเพลงแนวฟีลกู๊ดสุดๆ แถมยังเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เด็กอีกด้วย กับอีกเพลงหนึ่ง ที่มีชือ่ว่า "Eaten" ของศิลปินเดทเมทัลชาวสวีดิชที่มีชื่อว่า Bloodbath ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้ก็มืดหม่นและรุนแรงสุดๆ
โดยในระหว่างการทดสอบ อาสาสมัครจะต้องกดปุ่มเพื่อระบุว่า เขาได้เห็นภาพที่รุนแรง หรือภาพปกติ
และสิ่งที่นักวิจัยค้นพบคือ ทั้งแฟนเดทเมทัล และคนทั่วๆ ไปนั้นก็มีแนวโน้มที่จะรับรู้ภาพที่มีความรุนแรงได้ดีกว่าภาพแนวปกติเหมือนๆ กัน และไม่ขึ้นอยู่กับแนวเพลงที่เปิดให้ฟังในขณะที่ดูภาพอีกด้วย
โดยผู้เขียนงานวิจัยอธิบายว่า "และจากการเฝ้าสังเกต เราไม่พบว่าคนที่ชอบฟังเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง นั้นจะเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ซึ่งผลการทดสอบก็ชี้ให้เห็นว่า คอเพลงเดทเมทัล ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเลือกรับรู้ภาพที่มีเนื้อหารุนแรง มากกว่าคนที่ไม่ได้ฟังเพลงแนวนี้"
"ผลการวิจัยนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อแนวคิดที่ว่า การเสพสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานนั้น จะทำให้เป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงได้จริงหรือไม่?"
คุณ Bill Thompson ที่เป็นนักจิตวิทยา (และดูเหมือนจะเป็นคอเพลงแนวเดทเมทัลด้วย) กล่าวกับสื่อ BBC ว่า "แฟนเพลงเดทเมทัลเป็นคนที่น่ารัก และพวกเราไม่ออกไปทำร้ายใครแน่นอน"
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |