เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่ยานอวกาศ Hayabusa-2 ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) ได้เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า Ryugu โดยภารกิจการส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2014 และยาน Hayabusa-2 ใช้เวลาเดินทางถึง 3 ปี กว่าจะไปถึงดาวเคราะห์ที่รูปทรงแปลกประหลาด และญี่ปุ่นจะประกาศอีกครั้งเมื่อมีการลงจอดบนดาวดวงนี้
การลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยที่ยานสำรวจที่จะลงจอดบนดาวนั้นถูกออกแบบให้เป็นชิ้นส่วนที่แยกย่อยออกไปจากตัวยานแม่ โดยที่ตัวยานแม่อย่าง Hayabusa-2 จะเคลื่อนตัวอยู่ในวงโคจรรอบๆ ดาว Ryugu และทำการส่งหุ่นยนต์สำรวจไปลงจอดบนดาว
ดาวเคราะห์น้อย Ryugu ที่มีรูปทรงแปลกประหลาด
สำนักข่าว BBC รายงานว่า JAXA จะทำการปล่อยหุ่นยนต์สำรวจตัวแรกลงบนดาวในวันที่ 21 กันยายน โดยที่ยานแม่จะทำการส่งพัสดุลงไปยังตำแหน่งที่เป็นพื้นที่ที่ทำการสำรวจของหุ่นยนต์ทั้งสองตัว
โดยที่หุ่นยนต์สำรวจดาวของทาง JAXA นั่นไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นรถสำรวจเหมือนอย่างของทาง NASA แต่อย่างใด มันไม่มีล้อสำหรับการเคลื่อนที่ แต่มันอาศัยการเคลื่อนที่โดยการกระโดดไปยังจุดต่างๆ แทน ด้วยแรงโน้มถ่วงที่บางเบาของดาวเคราะห์น้อย ทำให้หุ่นสามารถกระโดดและกลับลงสู่ผิวดาวได้อย่างนุ่มนวล
และเมื่อทำการส่งหุ่นยนต์ตัวแรกลงจอดบนผิวดาวได้อย่างเรียบร้อย การปล่อยหุ่นตัวที่สองจะตามมาในวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งหุ่นตัวที่สองนี้จะมีความแตกต่างจากตัวแรกโดยสิ้นเชิง มันมีชื่อว่าเจ้า Mascot (ย่อมาจาก Mobile Asteroid Surface Scout) มันมีอุปกรณ์สำหรับการส่งข้อมูลกลับมาให้นักวิทยาศาสตร์
ด้วยหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ต่างกัน ทำให้คาดว่าจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากถูกส่งกลับมา ไม่เพียงแค่ภาพถ่ายความละเอียดสูงของพิ้นผิวดาว แต่ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ทดสอบคุณสมบัติของก้อนหินและแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของดาว เพื่อค้นหาว่าจุดกำเนิดของดาวเคราะห์น้อยนั้นก่อตัวจากวัตถุดิบประเภทใด เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถเข้าใจถึงกระบวนการฟอร์มตัวของดาวดวงนี้ รวมถึงเข้าใจเรื่องการก่อกำเนิดของระบบสุริยะ นับว่าเป็นภารกิจการสำรวจอวกาศที่ยิ่งใหญ่ของอีกหนึ่งชาติมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกเลยทีเดียว
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |