Google เผยว่าต้องการที่จะช่วยนักพยาธิวิทยา (การศึกษาและวินิจฉัยโรคจากการตรวจอวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ สารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์) ในการวิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อตรวจหาสิ่งที่อาจทำให้เกิดมะเร็ง เพราะแต่เดิมขั้นตอนกระบวนการต่างๆ จะใช้เวลาค่อนข้างนาน และการใช้เครื่องมือที่มีขั้นตอนยุ่งยาก จึงทำให้ Google คิดที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับการใช้งานเครื่องมือเหล่านั้น โดยทางบริษัทเชื่อว่ากล้องจุลทรรศน์แบบ AR จะช่วยประหยัดงบประมาณต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในห้องแล็บขนาดเล็กและคลินิก นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์กับประเทศที่กำลังพัฒนาที่สามารถใช้เครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น
Google จะปรับแต่งกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI และการสร้างภาพเสมือนจริง 3 มิติ AR เข้ามาช่วย เริ่มจากการพัฒนาระบบเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งจากภาพเนื้อเยื่อของมนุษย์ หลังจากวางเนื้อเยื่อบนสไลด์เพื่อส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ ภาพที่ผู้ใช้มองผ่านตัวกล้องจะถูกส่งเข้าคอมพิวเตอร์ จากนั้นระบบ AI จะตรวจหาเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อจากภาพดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนการทำงานเหล่านี้จะเห็นผลทันทีและรวดเร็วต่อการเปลี่ยนสไลด์เพื่อตรวจเนื้อเยื่อชิ้นใหม่
สำหรับตอนนี้ ทางทีมงาน Google ได้แสดงตัวอย่างการทำงานของกล้องจุลทรรศน์ในการตรวจมะเร็งปอดและมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งได้ผลว่าการทำงานของระบบออกมาค่อนข้างดีเลยทีเดียว Google ยังเสริมอีกว่าจะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของระบบในการตรวจโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกด้วย เช่น วัณโรค และโรคมาลาเรีย (ไข้จับสั่น)
"แน่นอนว่ากล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงมีประโยชน์อย่างมากในหลายอุตสาหกรรมนอกเหนือจากพยาธิวิทยา และพวกเราเชื่อว่ากล้องจุลทรรศน์ AR จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านสุขภาพอื่นๆ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และวัสดุศาสตร์ได้ต่อไป" Google กล่าว
Google ยังบอกอีกว่าจะศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อการประเมินผลการทำงานของระบบและปรับปรุงข้อบกพร่องให้ดียิ่งขึ้น โดยหวังว่ากล้องจุลทรรศน์ AR จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
|