ขอบคุณภาพประกอบจาก Rilsonav @pixabay
ถือเป็นข่าวที่น่าตกใจไม่น้อย เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า แพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ประกอบไปด้วยพลาสติกอย่างน้อย 79,000 ตัน ซึ่งมากกว่าที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ถึง 16 เท่า โดยกินอาณาบริเวณมากถึง 620,000 ไมล์ จนทำให้แพขยะใหญ่แปซิฟิกเป็น “เกาะขยะ” ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีอาณาเขตมากกว่ารัฐเท็กซัสถึง 2 เท่า!
ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน Scientific Reports โดย Laurent Lebreton นักวิจัยและเพื่อนๆ ของเขาจากมูลนิธิ Ocean Cleanup ระบุว่า พวกเขาค้นพบว่าแพขยะใหญ่แปซิฟิกซึ่งลอยอยู่ระหว่างแคลิฟอร์เนียกับฮาวาย ประกอบไปด้วยพลาสติกจำนวนมากกว่าที่คิดเอาไว้ โดย 99.9 เปอร์เซ็นต์ของขยะคือพลาสติก ในจำนวนนั้น 46 เปอร์เซ็นต์ คืออวนหาปลา และกว่า 75 เปอร์เซ็นต์เป็นพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีไมโครพลาสติก ซึ่งวัดขนาดได้ 0.02-0.2 นิ้ว ในปริมาณสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกทั้งหมด แม้อาจจะดูไม่มากแต่ก็เท่ากับ 94 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกจำนวน 1.8 ล้านล้านชิ้นที่ลอยอยู่ในแพขยะแปซิฟิก ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1970
Laurent Lebreton ระบุว่า สิ่งนี้ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเล และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารได้ จากการที่ปลาเล็กกินไมโครพลาสติกที่สกปรกเข้าไป และปลาใหญ่ก็มากินปลาเล็กต่อ ขณะที่ขยะชิ้นใหญ่อย่างอวนหาปลาก็อาจจะทำให้ปลา สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม และเต่าทะเลเข้าไปติดอยู่ได้
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังเชื่อด้วยว่า ระดับการเพิ่มขึ้นของปริมาณพลาสติกในมหาสมุทร อาจจะมาจากเหตุภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสึนามิ Tohoku ในปี 2011 อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการวิจัยให้มากขึ้น เพื่อหาคำตอบว่าขยะพลาสติกทั้งหมดมาจากไหน และจะลอยเป็นแพขยะอยู่ในกระแสน้ำวน (จุดที่ขยะถูกพัดมารวมกัน) นานเพียงใด
|