ประเทศออสเตรเลีย จะมีการนำฝูงโดรนที่ทำหน้าที่บินลาดตระเวนชายหาด เพื่อสอดส่องเหล่าปลาฉลามมาใช้งานในเดือนหน้า ซึ่งเป็นความพยายามในการเพิ่มระดับการดูแลความปลอดภัยให้กับผู้คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจบริเวณชายหาด โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า โดรนอัจฉริยะเหล่านี้มีซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ มันสามารถแยกแยะสิ่งที่ปรากฏในเฟรมภาพจากกล้องบนตัวโดรนได้ว่า เป็น ฉลาม, ปลาวาฬ, เรือ หรือสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้แบบ Real-time กันเลย และโดรนที่แจ้งเตือนปลาฉลามนี้มีชื่อว่า Little Ripper โดยได้มีการเริ่มทดลองใช้งานไปเมื่อปีที่แล้ว
โฉมหน้าของโดรน Little Ripper
โดยคุณ Nabin Sharma นักวิจัยของ Sydney School of Software ได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจจับฉลามทางอากาศ ซึ่งการใช้มนุษย์มาเฝ้าดูภาพถ่ายทางอากาศนั้นมีความแม่นยำในการตรวจจับปลาฉลามเพียง 20 - 30% เท่านั้น ในขณะที่ระบบซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์กลับทำงานอย่างเดียวกันนี้ได้ดีกว่า เพราะมีความแม่นยำถึง 90%
นักวิจัยได้ทำการฝึกให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ทำการตรวจจับปลาฉลาม ด้วยการใช้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอภาพถ่ายทางอากาศที่มีอยู่แล้ว และถ้าโดรนตรวจพบว่ามีปลาฉลามอยู่ในบริเวณนั้น มันจะทำการส่งเสียงเตือนผ่านโทรโข่ง และทำการปล่อยแพช่วยชีวิต พร้อมทั้งส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้กับคนที่กำลังอาจจะโดนฉลามโจมตี นอกจากนี้ทาง Little Ripper Group บริษัทที่สร้างโดรนนี้ ก็ยังได้มีการประดิษฐ์คิดค้น ระบบขับไล่ปลาฉลามด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic shark repellent อีกด้วย
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประเทศออสเตรเลีย ได้มีการติดตั้งตาข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาฉลามเข้ามาทำร้ายคน เนื่องด้วยออสเตรเลียนั้นเป็นประเทศที่มีสถิติฉลามทำร้ายคน นำโด่งมาเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังมีนักวิจัยบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยกับประสิทธิภาพของตาข่ายกันปลาฉลาม และนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า ตาข่ายอาจทำร้ายสัตว์ทะเลอื่นๆ โดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้น โดรนแจ้งเตือนปลาฉลาม จึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |