เวลาที่ผู้ใช้งานหลายรายใช้งาน Facebook อาจจะมีความคุ้นเคยกับโฆษณาจำนวนมากบนหน้าฟีดกันดี ซึ่งหลายครั้งก็มักจะเป็นโฆษณาปลอมที่สร้างความเสี่ยงให้ผู้ใช้งานติดบ่วงมิจฉาชีพ หรือมัลแวร์ กันได้ง่าย ๆ ด้วยเสียงเรียกร้องอันมากมาย ทำให้ทาง META เจ้าของแพลทฟอร์ม Facebook และ Instagram ได้ออกมาประกาศถึงการมาของแพ็คเกจพิเศษ
จากรายงานอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ META ทางบริษัทได้ทำการเปิดตัวแพ็คเกจพิเศษสำหรับผู้ใช้งานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สหภาพยุโรป (EU หรือ European Union) ที่ไม่มีความเต็มใจที่จะรับโฆษณาสามารถซื้อแพ็คเกจ “No Ads” เพื่อที่จะหยุดการแสดงผลโฆษณาบนหน้าฟีดของผู้ใช้งานได้ โดย ณ วันที่ประกาศในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) นั้น ทาง META ได้ประกาศลดราคาแพ็คเกจลงถึง 40% ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป โดยราคาของผู้ใช้งานผ่านเว็บนั้น จะลดลงจาก 9.99 ยูโร (367 บาท) เหลือเพียง 5.99 ยูโร (220 บาท) ต่อเดือน และสำหรับผู้ที่ใช้งานผ่านทาง iOS และ Android ราคาจะลดลงจาก 12.99 ยูโร (477 บาท) เหลือ 7.99 ยูโร (294 บาท) ต่อเดือน ซึ่งถ้าผู้ใช้งานมีบัญชีมากกว่า 1 บัญชีนั้น บัญชีถัดมาจะถูกคิดราคาเพิ่มเติมดังนี้ คือ 4 ยูโร (147 บาท) ต่อ 1 บัญชี ต่อเดือน สำหรับการใช้งานผ่านเว็บ และ 5 ยูโร (184 บาท) ต่อ 1 บัญชี ต่อเดือน สำหรับการใช้งานผ่าน iOS และ Android
ภาพจาก : https://www.facebook.com/help/262038446684066
และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลของทางสหภาพยุโรปอย่างเช่น GDPR (General Data Protection Regulation) และ DMA (Digital Marketing Act) และจากความเข้มงวดจากกลุ่มองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายที่บังคับให้ทาง META ต้องปฏิบัติเกินกว่าที่เขียนในกฎหมาย ทาง META จึงได้เพิ่มการปรับแต่งให้เห็นโฆษณาที่ถูกตั้งค่าให้แสดงตามบุคลิกการใช้งานของผู้ใช้งาน หรือ Personalized Ads ให้มองเห็นได้น้อยลงสำหรับผู้ที่ใช้งานฟรี ผ่านทางตัวเลือกการตั้งค่าของผู้ใช้งาน
ถึงกระนั้นทาง META ก็ยังยืนยันที่จะเป็นแพลทฟอร์มที่นำเสนอโฆษณาให้เป็นไปตามบุคลิกของผู้รับสาร (Personalized Ads) อย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งเสนอข้อดีกว่า การที่ธุรกิจสามารถใช้โฆษณารูปแบบดังกล่าวได้นั้น นำมาสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคพื้นทวีปยุโรปมากกว่าแสนล้านยูโร และนำมาสู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเศรษฐกิจแถบนี้ ด้วยข้อบังคับดังกล่าวนั้น ทำให้มีเสียงเรียกร้องมาจากชุมชนทางธุรกิจ (Business Community) ของทางภาคพื้นทวีปยุโรปว่า สามารถทำการค้าได้ยากลำบากมากกว่าที่เป็นมา
|