ในปัจจุบันนั้นการหลอกลวงออนไลน์มีหลากรูปแบบ และผู้ที่ถูกหลอกลวงนั้นก็มีตั้งแต่บุคคลทั่วไป ไปจนถึงธุรกิจ และการหลอกลวงก็ได้มีความแนบเนียนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่คนร้ายนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ โดยจากข่าวนี้คุณอาจได้พบกับสถิติที่น่าตกใจ
จากรายงานโดยนิตยสาร Australian Cyber Security Magazine นั้นได้ทำการเจาะลึกถึงรายงาน State of Information Security Australia ซึ่งเป็นรายงานการวิจัยในประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลภายในออสเตรเลีย จัดทำโดย ISMS.online บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยตัวรายงานนั้นเป็นการสำรวจข้อมูลจากเหล่าผู้นำด้านความปลอดภัยทางข้อมูล (Information Security) กว่า 506 องค์กร จาก 10 อุตสาหกรรม จนนำมาสู่การค้นพบกับข้อมูลที่น่าตกใจ เช่น
กว่า 75% ขององค์กรนั้นมักจะได้รับผลกระทบด้านความปลอดภัยของข้อมูลจากการที่คู่ค้าที่อยู่ในช่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ถูกโจมตี รวมถึงมีการตรวจพบว่า ข้อมูลที่มักจะถูกแฮกมากที่สุดมักจะเป็นข้อมูลจากคู่ค้า (Partner Data) กว่า 39% นอกจากนั้น ประมาณ 24% ของธุรกิจทั่วออสเตรเลียนั้นได้ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีใหม่อย่าง Deepfake ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ปลอมตัวเป็นคนดังหรือบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือมาหลอกลวงกลุ่มพนักงานจนทำสิ่งที่ผิดพลาด เช่น ด้านการเงิน และความปลอดภัยของข้อมูล จนเกิดความรั่วไหล และความเสียหายเชิงธุรกิจ
นอกจากนั้นแล้ว ในประเด็นด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และข้อมูลภายในองค์กรนั้น ยังพบช่องโหว่ที่ใหญ่มากคือ กว่า 36% ขององค์กรได้ยอมรับว่าพนักงานภายในองค์กรนั้นมีการใช้อุปกรณ์ทำงานที่มีระบบ และมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ดีพอ จนนำมาสู่การตกเป็นเหยื่อของเหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น
แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ในเชิงลบอย่างเดียว เพราะหลายองค์กรก็ได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวในด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แล้ว โดย 66% ได้เริ่มทำการวางแผนที่จะเพิ่มงบประมาณด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในส่วนของห่วงโซ่อุปทานและคู่ค้าที่เป็นบริษัทภายนอกองค์กร (3rd-Party Vendor) ให้มากขึ้นในรอบ 12 เดือนข้างหน้า และมากกว่า 79% จะมุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนาความแข็งแกร่งในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนั้น 46% ขององค์กรยังเริ่มเห็นความสำคัญของการฝึกอบรมในส่วนที่มักเป็นปัญหามากที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นคือ พนักงาน ที่อาจไม่ตระหนัก หรือมีความรู้ไม่เท่าทัน
ขณะที่เทคโนโลยีเช่น Deepfake นั้นสร้างปัญหาให้กับองค์กรต่าง ๆ จนนำไปสู่ความเสียหาย แต่องค์กรโดยมากก็ยังคงมีความเห็นในเชิงบวกต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งกว่า 86% ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยียุคใหม่นั้นจะช่วยเหลือในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และประมาณ 69% ขององค์กรก็เริ่มวางแผนในการลงทุนในเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยที่ใช้งาน AI และ Machine Learning (ML) แล้ว
ภาพจาก https://mysecuritymarketplace.com/reports/state-of-information-security-australia/
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ตระหนักว่า แม้แต่ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาและที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีมาตรการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในภาคองค์กร และในภาคกฎหมายที่ค่อนข้างแน่นหนา ยังประสบปัญหาอย่างมากมาย ทำให้องค์กรและภาครัฐของไทยจะต้องตื่นตัวให้มากขึ้นในการตรวจสอบสถานการณ์ในปัจจุบัน และปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่เป็นปัญหาเสียโดยไว
|