การใช้ Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการสร้างสื่อ นั้นได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน เนื่องจากมันสามารถช่วยงานได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การช่วยเขียนรีซูเม่ในการสมัครงาน การนำมาใช้ช่วยเขียนบทความ การนำมาทำสคริปท์ภาพยนตร์ รวมไปถึงการใช้ทำภาพอาร์ตเวิร์กต่าง ๆ เป็นต้น
แต่การใช้ Generative AI ถึก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในการทำสื่อเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยงานในเชิงวิศวกรรม เช่น การเขียนโปรแกรมได้อีกด้วย แน่นอนว่าในเมื่อสามารถช่วยเขียนโปรแกรมได้ ก็สามารถที่จะนำมาใช้สร้างมัลแวร์หรือไวรัสได้เช่นเดียวกัน แต่ว่าถ้าสร้างมัลแวร์ไปใช้แล้ว ก็ย่อมมีผลที่จะตามมา
จากรายงานข่าวโดยสำนักข่าว Japan Times นั้นรายงานว่า ตำรวจแห่งมหานครโตเกียวได้ทำการจับกุม นายริวคิ ฮายะชิ วัยรุ่นอายุ 25 ปี จากเขตคาวะซากิ ในฐานะผู้ต้องสงสัยในการสร้างมัลแวร์ด้วยการใช้ Generative AI หลังจากที่นายริวคิพยายามใช้หลักฐานปลอมภายใต้ชื่อผู้อื่นเพื่อออกซิมโทรศัพท์ตัวใหม่
ซึ่งภูมิหลังของนายริวคินั้น ก็เป็นเพียงพนักงานโรงงานธรรมดา ไม่ได้มีการทำงานในด้านที่เกี่ยวข้องกับมัลแวร์หรือ AI แต่อย่างใด โดยทางตำรวจได้กล่าวหานายริวคิว่า พยายามสร้างมัลแวร์ด้วยการใช้ Generative AI ที่ปกติแล้วมันจะไม่ยอมให้คำตอบในการสร้าง หรือกระทำการใด ๆ ที่ผิดต่อกฎหมายและศีลธรรม แต่ทางนายริวคิ ได้ใช้ชุดคำสั่ง (Prompt) เพื่อหลอกล่อให้ตัว AI ให้คำตอบที่ตนเองต้องการ โดยทางตำรวจได้มีหลักฐานเป็นมัลแวร์ของนายริวคิที่มีลักษณะการทำงานในรูปแบบมัลแวร์เพื่อการเรียกค่าไถ่ (Ransomeware) ที่มีความสามารถในการเข้ารหัสไฟล์บนเครื่องของเหยื่อ
ซึ่งทางนายริวคิ ได้สารภาพว่าที่ทำไปนั้นเพราะ “อยากรวยทางลัด” แต่ถือว่าเป็นโชคดีของเป้าหมายของนายริวคิหลายคน เนื่องจากทางตำรวจได้เผยว่า ขณะนี้มัลแวร์ยังคงไม่สร้างความเสียหายใด ๆ เนื่องจากทางนายริวคิยังไม่สามารถหา หรือสร้างเครื่องมือที่จะทำให้มัลแวร์ทำงานตามต้องการได้
จะเห็นได้ว่า Generative AI สุดล้ำนั้น เรียกว่ามีประสิทธิภาพที่สูงมากจนทำงานได้ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ แต่ผู้ที่ไม่หวังดีใช้ในทางที่ผิดนั้นวันหนึ่งก็จะต้องโดนจับได้และถูกลงโทษในที่สุด จึงขอให้ผู้ใช้งานไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะนำไปใช้ในเชิงที่ไม่จรรโลงสังคม และท้าทายกฎหมาย
|