สมัยก่อน ความรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังไม่แพร่หลาย และไม่ค่อยได้รับความสำคัญมากนัก ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์หลายคนมักจะใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นประจำ และในหลาย ๆ เครื่อง ก็มักจะต้องประสบเหตุการณ์ที่ต้องล้างเครื่องเพื่อลง Windows หรือระบบปฏิบัติการใหม่เป็นประจำ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะตัว Windows เองก็เป็นของเถื่อน
จนมาในช่วงยุคหลังที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า เพราะของเถื่อนทำให้เครื่องติดมัลแวร์จนไร้เสถียรภาพ และจากข่าวนี้ก็ยิ่งเหมือนจะยืนยันในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น
จากรายงาน The Piracy-Malware Nexus in India: A Perceptions and Experience and Empirical Analysis ซึ่งจัดทำโดย Indian School of Business (ISB) ได้พบกับข้อมูลจากการวิจัยด้วยการตรวจสอบเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้นพบว่า เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า 59% นั้นมีมัลแวร์ซ่อนตัวอยู่ รองลงมาคือ เว็บไซต์สำหรับผู้ใหญ่ที่ 57% และโฆษณาเว็บไซต์พนันที่ 53% ตามลำดับ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 18 ปี ในอินเดียมากกว่า 1,073 ตัวอย่าง
ซึ่งสำหรับกรณีเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ไม่เพียงจำกัดอยู่แค่การดูรายการทีวี และหนังเถื่อนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงสื่ออื่น ๆ เช่น อีบุ๊ค ไปจนถึงซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เว็บไซต์เหล่านี้ต่างเต็มไปด้วยมัลแวร์ทั้งสิ้น โดยจากงานวิจัยพบว่า มัลแวร์เหล่านี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมรายได้ของตัวเว็บไซต์
ซึ่งบางเว็บไซต์ที่ค้นพบนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเว็บไซต์รวมของละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วไป แต่เป็นเว็บไซต์ที่ใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์มาเป็นตัวหลอกล่อให้ผู้ที่เข้ามารับชม หรือดาวน์โหลด ติดมัลแวร์ และใช้มัลแวร์เหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการโจมตีเครื่องของเหยื่อ ซึ่งในรายงาน และตัวข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นการโจมตีแบบไหน แต่คาดว่าอาจเป็นการโจมตีแบบขโมยข้อมูลของเหยื่อไปขายในตลาดมืด ไปจนถึงการใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือแรนซัมแวร์ (Ransomware) เพื่อขโมยเงินของผู้เสียหาย
ถึงแม้งานวิจัยดังกล่าวจะมาจากอินเดีย แต่ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์นั้นผู้เล่นจากทุกชาติสามารถเจอได้อย่างเท่าเทียมกันถ้าเข้าเว็บไซต์ที่ไม่ประสงค์ดี ดังนั้น ถ้าผู้อ่านไม่ต้องการให้ตนตกอยู่ใต้ความเสี่ยง ให้หลีกเลี่ยงการใช้งานเว็บไซต์ประเภทดังกล่าว
|