มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มองว่า AI ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก
ในช่วงปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัท META ซึ่งเป็นเจ้าของ Social media ยอดนิยมอย่าง Facebook และ Instagram ได้ประกาศว่าปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) จะเป็นปีแห่งการเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงาน นำมาสู่การ “ปรับโครงสร้างองค์กร” ส่งผลให้มีการ Layoff หรือเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก นำมาสู่ข่าวลือตามโลกออนไลน์ว่า เกิดจากการที่ Meta นำเอา AI มาใช้ในการทำงานที่มากขึ้น
เพื่อตอบรับการข่าวลือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง, ประธาน, และผู้บริหารบริษัท META ได้ออกมาอธิบายถึงสาเหตุของการเลิกจ้างดังกล่าวผ่านทางรายการ Speaking Daily Brew Morning ทางพอดแคสต์ (Podcast) โดยมีใจความว่า ทางบริษัทได้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงองค์กรให้มีขนาดเล็ก และคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบการทำงานของบริษัทให้เหมาะสมกับสถานการณ์หลังการระบาดใหญ่ของโควิดสิ้นสุดลง ทั้งนี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่าการปรับตัวดังกล่าว เป็นการตัดสินใจที่ “ยาก และเจ็บปวด”
ภาพจาก https://en.ittefaq.com.bd/2979/Facebook-owner-Meta-to-lay-off-11-000-staff
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมานั้น มีหลายบริษัทหลายแห่งที่ได้มีการปรับโครงสร้างลดจำนวนพนักงานลงเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้มีแค่บริษัทใหญ่อย่าง Google หรือ Microsoft เท่านั้น ที่ได้มีการลดจำนวนคนงานขนานใหญ่ แต่บริษัทขนาดเล็กอย่างเช่น Fintech และสตาร์ทอัปขนาดย่อม ต่างก็มีการลดขนาดองค์กรกันแทบทั้งสิ้น
“ส่วนตัวผมมองว่า ประเด็นการลดคนด้วยการเลิกจ้างนั้น มาจากการที่องค์กรพยายามขับเคลื่อนตัวเองฝ่าโควิด” มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้อธิบายผ่านรายการพอดแคสต์ดังกล่าวหลังถูกสอบถามในประเด็นการลดคนงาน
“มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากใจที่ทางเราต้องแยกทางกับบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก ซึ่งทางเรานั้นให้ความใส่ใจกับพวกเขามาก แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะทำให้องค์ของของเรานั้นเล็กลง คล่องตัวมากขึ้น มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น” ซักเคอร์เบิร์ก อธิบายเพิ่มเติมสำหรับประเด็นการลดคนงาน
จากรายงานโดย NDTV นั้น ทางบริษัท META ได้ทำการเลิกจ้างบุคลากรร่วม 67,317 ตำแหน่ง จากสถิติช่วงสิ้นปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ได้พบว่าผู้ถูกเลิกจ้างส่วนมากนั้นอยู่ในตำแหน่งระดับผู้จัดการ
โดย The New York Times ได้รายงานรายละเอียดส่วนนี้เพิ่มเติมว่า ตำแหน่งผู้จัดการดังกล่าวนั้น เป็นตำแหน่งผู้จัดการระดับกลางที่ถูกเรียกว่า Technical Program Manager หรือ T.P.M. ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลโครงการหลากโครงการภายในแผนก เพื่อให้มีการส่งงานได้ทันตามตารางที่วางไว้ โดยตำแหน่งดังกล่าวนั้น ซักเคอร์เบิร์กได้ให้นิยามว่า “ผู้จัดการ ที่บริหารจัดการ เหล่าผู้จัดการอีกที” ซึ่งทำให้องค์กรนั้นมีสายบัญชาการที่มากชั้นเกินไปไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการทำงาน
|