มีข้อมูลจากบลอค Incogni เผยว่า จากการศึกษาแอปยอดนิยมบน Google Play กว่า 1,000 แอปฯ พบว่าเกินกว่าครึ่ง (55.2%) มีเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปส่งให้บุคคลที่สาม (3rd party) ซึ่งสัดส่วนของแอปฯ ฟรี (Free app) มีโอกาสสูงกว่า แอปฯ จ่ายเงิน (Paid app) มากถึง 7 เท่าด้วยกัน
ถึงแม้ว่าบริการต่าง ๆ รวมไปถึง Google Play ต่างก็ออกนโยบายมาช่วยคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal data) อย่างเช่น การให้แอปฯ ต่าง ๆ ระบุว่า จะนำข้อมูลของเราไปใช้ทำอะไรบ้าง ? โดยผู้ใช้มีสิทธิ์เลือกความยินยอม รวมไปถึงการลบข้อมูลส่วนตัวได้ แต่ก็ยังมีช่องโหว่ต่าง ๆ ให้คอยหลบเลี่ยงอยู่เรื่อย ๆ
มีรายงานหนึ่งระบุว่า จำนวนหนึ่งในสามของแอปฯ ยอดนิยมทั้งหมด รวมไปถึง Instagram, Twitter, Amazon, Facebook นั้น รอจนถึงวินาทีสุดท้ายที่ Google ประกาศใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวถึงเริ่มปฏิบัติตาม ในขณะที่แอปฯ ช้อปปิ้ง (ฝั่งตะวันตก) อย่าง Walmart Shopping & Grocery, Dollar General และ Macy's นั้น ไม่มีตัวเลือกให้ผู้ใช้ลบข้อมูลส่วนตัวในการใช้งานออกจากแอปฯ
Darius Belejevas จากเว็บไซต์ Incogni เผยว่า แอป Facebook, Instagram, TikTok และ Twitter ที่มีข้อมูลผู้ใช้อยู่ค่อนข้างมาก ก็ไม่ได้ปลอดการแชร์ 100% แต่เคลมว่าจะแชร์ข้อมูลผู้ใช้ไปยังบุคคลที่สามให้น้อยที่สุด นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงช่องโหว่ของนโยบาย Google Play อีกว่า ข้อมูลบางประเภทไม่จำเป็นต้องระบุให้ผู้ใช้ทราบ หากทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางกฏหมาย หรือข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตน (อย่างชัดเจน) ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูล ก็อาจระบุถึงเจ้าของข้อมูลได้ทันที
แอปแชทหรือแอปส่งข้อความบางแอปฯ แม้จะมีฟังก์ชันเข้ารหัสแบบ End-to-end ก็มีสิทธิ์ถูกเก็บข้อมูลได้เหมือนกัน เพราะฟังก์ชันสามารถเปิดปิดได้ และการตั้งค่าเริ่มต้นของเราอาจจะยังไม่ได้เปิดฟังก์ชันดังกล่าว
Stephanie Benoit-Kurtz หัวหน้าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยฟินิกซ์ กล่าวว่า ด้วยการขยายตัวของระบบนิเวศแอปฯ มือถือ ทำให้การรักษาสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้นั้น เป็นเรื่องท้าทายอย่างมากทั้งทางฝั่งผู้พัฒนาแอป และทางฝั่งผู้ใช้งาน
ข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ความถี่ในการใช้งาน ไปจนถึงตำแหน่งโลเคชันของผู้ใช้งาน มักถูกแอปฯ รวบรวมไปแชร์หรือขายให้กับองค์กรอื่น แต่มีผู้ใช้แค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่อ่านนโยบายเหล่านี้อย่างละเอียด แน่นอนว่าส่วนใหญ่เพิกเฉย คนบางกลุ่มคิดว่ายังไงก็ต้องใช้บริการเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่ตัวเองสามารถทำได้เพื่อปกป้องข้อมูลของตัวเอง แน่นอนว่า Google และผู้ให้บริการหลาย ๆ องค์กรต่างก็มีวิธีจูงใจให้ใช้บริการของพวกเขาในทุกช่องของชีวิตเพื่อแลกกับข้อมูล จึงเป็นเรื่องยากที่ทำให้เราตัดสินใจไม่แลกข้อมูลของเราเพื่อความสะดวกสบายหรือความบันเทิง ในการใช้งานแอปฯ มือถือเหล่านี้
แค่เราโหลด "แอปฯ ฟรี" มาใช้งาน ก็เท่ากับ เราซื้อแอปฯ มาใช้ด้วยข้อมูลส่วนตัวของเราแล้ว (ของฟรีไม่มีอยู่จริง) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ล้วนเป็นรายได้อย่างดีของผู้ให้บริการนั่นแหละ
|
... |